กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กำหนดจัดงานสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชา แนะทิศทางการค้าชาโดยใช้ประโยชน์จาก FTA เน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาคุณภาพสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และติดตามความพร้อมรับมือการค้าเสรี
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชา ระหว่างวันที่ 28 – 29 มิถุนายน 2561 ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อหารือเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจชา ถึงช่องทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ในสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งติดตามการปรับตัวและการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรี FTA ที่ผ่านมา และเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีสินค้าชาภายใต้ FTA ที่จะเกิดขึ้น
นางอรมน ให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 ไทยมีผลผลิตชาสดประมาณ 73,211 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 8 แบ่งเป็นชาอัสสัม 64,749 ตัน คิดเป็นร้อยละ 88 ของผลผลิตชาทั้งหมด และชาจีน 8,462 ตัน คิดเป็นร้อยละ 12 ทั้งนี้ ในปีเดียวกันนี้ไทยยังมีการนำเข้าใบชา 9,237 ตัน จากประเทศจีน (ร้อยละ 45) เวียดนาม (ร้อยละ 22) เมียนมา (ร้อยละ 15) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 11) ซึ่งภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ไทยไม่ได้เปิดตลาดสินค้าใบชาให้กับจีน โดยเก็บอัตราภาษีนำเข้าชาจากจีนเท่ากับประเทศสมาชิก WTO คือ อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 30 ซึ่งมีปริมาณเปิดตลาดปีละ 625 ตัน เมื่อครบปริมาณแล้วจะต้องเสียภาษีนอกโควตาร้อยละ 90 สำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์ชา ไทยได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลงดังกล่าวแล้ว ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนได้มีการยกเว้นอากรสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้แก่กันแล้ว ยกเว้นเมียนมาที่ยังมีการเก็บภาษีสินค้าชาบางชนิดอยู่ที่ร้อยละ 5
ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในผลิตภัณฑ์ชา โดยในปี 2560 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ชาเป็นอันดับที่ 4 ของโลก (ตามปริมาณ) รองจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และจีน โดยส่งออกเป็นปริมาณ 10,775 ตัน คิดเป็นมูลค่า 958 ล้านบาท ไปยังเมียนมา (ร้อยละ 46) สหรัฐฯ (ร้อยละ 27) และสปป.ลาว (ร้อยละ 7) ขณะเดียวกันไทยมีแนวโน้มส่งออกใบชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2560 ไทยส่งออกใบชาเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 49 โดยส่งออกเป็นปริมาณ 2,710 ตัน คิดเป็นมูลค่า 436 ล้านบาท ไปยังอินโดนีเซีย (ร้อยละ 25) กัมพูชา (ร้อยละ 19) และจีน (ร้อยละ 18) ซึ่งไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศดังกล่าวได้ โดยได้รับการยกเว้นการเสียภาษีนำเข้าภายใต้ FTA ยกเว้นสหรัฐฯ ที่ไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ชาแต่ไม่มีการจัดทำ FTA ด้วย
นางอรมน เสริมว่า เนื่องจากชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ และติดตามความพร้อมเกษตรกรและผู้ผลิตชาและผลิตภัณฑ์ของไทย ในการเปิดตลาดภายใต้ FTA ต่างๆ จึงมีกำหนดลงพื้นที่ในวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ณ โรงงานและไร่ชาในพื้นที่ตำบลแม่สลองนอก ตำบลแม่สลองใน และตำบลเทิดไทย จังหวัดเชียงราย รวมทั้งการจัดสัมมนาติดตามความพร้อมแสวงหาประโยชน์และรับมือการค้าเสรีให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมชาตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ปลูกชา โรงงานชา ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ในวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรม คาทิลิยา เมาน์เท่น รีสอร์ท แอนด์สปา จังหวัดเชียงราย ทั้งในส่วนการใช้ประโยชน์และรับมือกับความตกลง FTA ที่ผ่านมา และการเตรียมการรับมือกับความตกลง FTA ไทย – ออสเตรเลีย ที่จะเปิดเสรีชาให้กับออสเตรเลีย ในปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะไม่มีผลกระทบกับผู้ผลิตชาในประเทศ เนื่องจากออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศที่ผลิตและส่งออกชามากนัก
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์เน้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่า พัฒนาคุณภาพสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการสัมมนาครั้งนี้ มีวิทยากรจากหลายภาคส่วนร่วมบรรยายแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ด้วย อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมวิชาการเกษตร สถาบันชา สหกรณ์จังหวัดเชียงราย และภาคเอกชนในพื้นที่
นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังมีแผนจะลงพื้นที่พบปะเกษตรกร เพื่อชี้ช่องทางการใช้ประโยชน์จาก FTA และติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรีในสินค้าอื่นๆ โดยผู้สนใจสามารถติดตามการดำเนินงานได้จากเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th
—————————-
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์