พพ.จัดประชุมนานาชาติ ระดมพัฒนาสมาร์ทกริดในภูมิอาเซียน

เมื่อเร็วนี้ พพ.จัดงานประชุมนานาชาติเรื่อง “International Workshop on Energy Transition through Smart Grid Realization for ASEAN & BIMSTEC”เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสมาร์ทกริด ด้านนโยบาย เทคโนโลยี ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของแต่ละประเทศ และกรณีศึกษาโครงการทาง ด้านสมาร์ทกริด ในภูมิภาคอาเซียนและบิมสเทค ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับยุค Energy transition โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากกว่า 50 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการไฟฟ้า ภาครัฐจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนและบิมสเทคและภาคเอกชนของไทย

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันนโยบายของประเทศไทยมุ่งเน้นไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยได้นำเสนอในประเด็นของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) นโยบาย 4D1E (Decentralization, Digitalization, Decarbonization, Deregulation and Electrification) และแผนบูรณาการพลังงานทดแทน ดร.ประเสริฐ ได้เน้นย้ำว่า กฎหมายและนโยบายนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาระบบสมาร์ทกริดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ Dr.Richard Rocheleau,Director of Hawaii Natural Energy Institute (HNEI), University of Hawaii ยังได้กล่าวบรรยายพิเศษเกี่ยวกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาพลังงานและระบบสมาร์ท กริดทั้งในเชิงนโยบายและเทคโนโลยี โดยได้มีความร่วมมือกับ HICO ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพลังงานไฟฟ้าของรัฐฮาวาย ในการวางแผน ออกแบบ และติดตั้งระบบพลังงานทดแทนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือในการช่วยผลักดันด้านการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้แก่ประเทศในเขตภูมิภาคอาเซียน

ดร.ภานุพงศ์ สาธร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้นำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาสมาร์ทกริดของประเทศไทย (2558-2579) ซึ่งเป็นการสนับสนุนในการจัดหาไฟฟ้าให้มีเพียงพอต่อความต้องการ มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน รวมถึงการบริการที่มีคุณภาพเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด

ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้เสนอกลยุทธ์ขององค์กร กรอบการดำเนินงาน โครงการที่ดำเนินการในปัจจุบัน อุปสรรคในการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด และแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดี องค์กรเหล่านี้ได้ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดตามแผนแม่บทการพัฒนาสมาร์ทกริดของประเทศไทย (2558-2579) โดย 3 การไฟฟ้าได้เป็นผู้นำในการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดให้มีความทันสมัยโดยดำเนินการจัดตั้งศูนย์สาธิตตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับเทศบาล จนถึงระดับเมือง ซึ่งในแต่ละระดับมีการพัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ทกริด และนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ส่วนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานนั้นมีการดำเนินการด้านระบบ Microgrid และ Mini microgrid จากพลังงานน้ำ ให้กับชุมชนหรือหมู่บ้านที่สายส่งไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงมาเป็นระยะเวลาอันยาวแล้ว
ตัวแทนของภาครัฐจากภูมิภาคอาเซียนและบิมสเทค ประกอบด้วย ภูฐาน อินโดนีเซียม สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ได้นำเสนอแผนและนโยบายและการพัฒนาด้านสมาร์ทกริดของประเทศ ซึ่งมีหลายประเทศได้นำเสนอ Smart Grid Roadmap แต่บางประเทศเช่น ภูฐาน และ สปป.ลาว มีเพียงนโยบายด้านพลังงานทดแทน แต่มีความสนใจในการพัฒนานโยบายและสนับสนุนระบบสมาร์ทกริดเพื่อสร้างความมั่นคงและเชื่อถือได้สำหรับระบบสายส่งภายในประเทศ

ตัวแทนของ Institute of Energy Economics (IEEJ) ประเทศญี่ปุ่น และภาคเอกชนจากบริษัท Energy Absolute, B. Grimm Power และ Brilliant Power ได้ขึ้นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการด้านการพัฒนาโครงการและธุรกิจใหม่สำหรับสมาร์ทกริดที่เน้นด้านการจัดการข้อมูลพลังงานและตลาดซื้อขายไฟฟ้า โดยมีความเห็นว่า ควรมีการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ การไฟฟ้า ภาครัฐ และ ผู้ใช้ไฟฟ้า อีกทั้งปัจจัยสู่ความสำเร็จของการพัฒนาสมาร์ทกริด คือ การสร้างความมั่นคง ความเชื่อถือได้ ของระบบไฟฟ้า การสร้างระบบการตลาดพลังงาน และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาได้มีโอกาสไปดูงานที่ โครงการ Smart Micro Grid ณ โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นระบบ Smart Microgrid นำร่องแห่งแรกที่พัฒนาโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กภฟ.) ซึ่งระบบนี้เป็นระบบผสมผสานพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ 100 กิโลวัตต์ พลังงานน้ำประมาณ 100 กิโลวัตต์และ ระบบกักเก็บพลังงานประสิทธิภาพสูง 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง เพื่อจ่ายไฟให้กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะและชุมชนใกล้เคียง700 ครัวเรือนทาง กฟภ. ได้พัฒนาระบบควบคุมการจ่ายไฟ (Micro Grid Controller) ทำให้ระบบไฟฟ้าในพื้นที่บ้านขุนแปะเป็นระบบไฟฟ้าแบบ Smart Micro Grid อย่างสมบูรณ์ ทำงานในโหมดแยกตัวอิสระ (Islanding) หรือโหมดเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก (Grid Connected) ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าได้จากระยะไกล ซึ่งเป็นที่ประทับใจของผู้เข้าเยี่ยมชมอย่างมาก