สธ.อบรมทางไกลแพทย์ทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยไข้เลือดออก

วันที่ 20  มิถุนายน  2561  ที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี   นายแพทย์มรุต   จิรเศรษฐสิริ   รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาระบบการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยไข้เลือดออกด้วยระบบประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการวินิจฉัย  ดูแลรักษาไข้เลือดออกแก่แพทย์จบใหม่ แพทย์ใช้ทุน อายุรแพทย์ กุมารแพทย์  และ บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ โดยมีศาสตราจารย์ (คลินิก) แพทย์หญิงศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศด้านไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และรองศาสตราจารย์วิภา ธนาชาติเวทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ข้อมูล

นายแพทย์มรุตให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการซักซ้อมแนวทางการวินิจฉัย การรักษา และระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกแก่แพทย์ และบุคลาการทางการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย ดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว ลดการเสียชีวิต  เนื่องจากพบว่าปีนี้โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มที่จะระบาด ผู้ป่วยเป็นกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยสูงอายุซึ่งมาพบแพทย์ช้า  ผู้ป่วยมักมีโรคประจำตัวทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นและไม่นึกถึงไข้เลือดออก  กระทรวงสาธารณสุข  ได้เตรียมการรองรับและสั่งการให้โรงพยาบาลและหน่วยงานในพื้นที่   เน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์เฝ้าระวังโรค  หากพบผู้ป่วยที่มีไข้สูง หน้าแดง ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออกและดำเนินการตามแนวทางการตรวจติดตามวินิจฉัยของกรมการแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยได้เร็ว ดูแลรักษาที่เหมาะสม จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไข้เลือดออกให้คำปรึกษาทุกเขตสุขภาพและส่วนกลาง พร้อมทั้งจัดทีมตระหนักรู้สถานการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดโรค ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่ควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว กรณีที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องให้พิจารณายกระดับเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) รวมทั้งเร่งสื่อสารให้ประชาชนมีความตระหนัก ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

“ขอให้ประชาชนดูแลสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและบริเวณบ้าน ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เน้นมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคคือ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ดำเนินการต่อเนื่องทุกสัปดาห์ และป้องกันยุงกัดตนเองและบุตรหลาน โดยนอนในมุ้ง มุ้งลวด ทายากันยุง หากมีไข้สูง 2 วันไม่ดีขึ้น ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ปวดเมื่อย หน้าแดง ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว” นายแพทย์มรุตกล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 12 มิถุนายน 2561 มีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก 17,302 ราย เสียชีวิต 21 ราย โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิต มีโรคประจำตัวหรือภาวะเสี่ยงได้แก่ ภาวะอ้วน โรคเรื้อรัง โรคเลือด โรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ นอกจากนี้ ผู้ป่วยไข้เลือดออกมักจะมีอาการโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย ทำให้การวินิจฉัยโรคค่อนข้างยาก อีกทั้งผู้ป่วยมีโรคประจำตัวทำให้การรักษายุ่งยากมากกว่าในเด็ก สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422