พาณิชย์ประเมินสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนกระทบไทยโดยตรงไม่มากนัก แต่ควรเร่งหาตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึง สถานการณ์การตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ และจีนล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 61 โดยสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีเข้าสินค้าจีนจำนวน 1,102 รายการ มุ่งสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบาย Made in China 2025 และจีนตอบโต้มาตรการดังกล่าวในทันทีด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จำนวน 649 รายการ พุ่งเป้าสินค้าสำคัญที่มีนัยยะทางการเมือง กลุ่มการเกษตร ยานยนต์ และสินค้าประมง โดยมาตรการของทั้งสองประเทศมีมูลค่าการค้าใกล้เคียงกันประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การขึ้นภาษีของสหรัฐฯและจีนครั้งนี้ แบ่งเป็นสินค้า 2 กลุ่ม คือ สินค้ากลุ่มที่ 1 ฝั่งสหรัฐฯ 818 รายการ และฝั่งจีน 545 รายการ มีอัตราการเก็บภาษีเพิ่มร้อยละ 25 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลบังคับใช้พร้อมกันวันที่ 6 กค. 61 และสินค้ากลุ่มที่ 2  ฝั่งสหรัฐฯ 284 รายการ และฝั่งจีน 114 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังอยู่ในกระบวนการทำประชาพิจารณ์ (public hearing) ก่อนที่ USTR จะประกาศรายการสินค้าและมาตรการที่จะใช้ต่อไป (ยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจน)

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มาตรการโต้ตอบระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 2 อันดับแรกของโลกนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และบั่นทอนบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก ในระยะสั้น ตลาดเงินและตลาดทุนมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลต่อสถานการณ์และความไม่แน่นอนด้านนโยบายของทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการค้าการลงทุนด้วย โดยอาจมีการชะงักงันในการสั่งซื้อสินค้า และผู้ส่งออกในจีนและสหรัฐฯ อาจเริ่มมองหาตลาดอื่นทดแทน อย่างไรก็ตาม สนค. ยังไม่พบการส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายถูกขึ้นภาษีระหว่างกันทะลักเข้ามาไทยสูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งหากมีสัญญาณผิดปกติ กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการได้ทันทีอยู่แล้ว

           ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์อาจมียังคงตึงเครียดระยะ 2 – 3 เดือนข้างหน้า แต่ในที่สุดแล้ว ทั้งสองฝ่ายอาจมีท่าทีผ่อนคลายข้อกีดกันทางการค้าลง หากประชาชน เกษตรกร หรือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากสินค้าขึ้นราคา/ต้นทุนสูงขึ้น เพราะจีนได้คัดเลือกกลุ่มสินค้าเป้าหมายที่เป็นฐานเสียงโดยตรงของประธานาธิบดีทรัมป์ จึงอาจถูกกดดันให้ทบทวนมาตรการขึ้นภาษีก็เป็นได้

ในระยะยาว สนค. ประเมินว่าสงครามทางการค้าในครั้งนี้อาจทำให้เกิดการปรับรูปแบบและโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ (Trade Realignment) โดยกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมีแรงจูงใจแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพการค้าในระยะยาว

สำหรับผลกระทบต่อการค้าไทยนั้น ผอ.สนค. กล่าวว่า จากการคำนวณตัวเลข scenario ทั้งเชิงรุก/เชิงรับของการส่งออกไทย พบว่า โดยรวมแล้วไทยยังจะได้ประโยชน์จากการที่อาจส่งสินค้าไปขายทดแทนได้บางประเภท แต่มูลค่าไม่มากนัก ประมาณ 1000 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณร้อยละ 0.42 ของมูลค่าการส่งออกปี 2560 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองก็จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ที่สร้างพันธมิตรทางการค้าการลงทุนกับประเทศอื่น ๆ ให้มากและเร็วขึ้น โดยเฉพาะต้องเร่งเปิดตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงการส่งออก เปิดการเจรจาทางการค้าและกระชับมิตรกับประเทศใหม่ ๆ มากขึ้น ซึ่งการเยือนยุโรปของคณะนายกรัฐมนตรีก็ถือส่วนหนึ่งของการดำเนินการยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าว

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงและมีความเป็นไปได้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 1-2 ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปต่อเนื่อง สนค. มองว่า นับเป็นโอกาสดีต่อผู้ส่งออกในการเร่งผลักดันส่งออกสินค้าและรายได้การส่งออกในรูปเงินบาทสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด โดย สนค. จะติดตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งฝั่งสหรัฐฯและจีน

แม้ว่าในภาพรวม ขณะนี้ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากเรื่องตลาดทุนตลาดเงินที่มีความผันผวนสูง แต่เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับสงครามการค้า สนค. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาหารือกันโดยเร็วต่อไป