กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ทำบุญเนื่องในโอกาสถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระอารามหลวง พร้อมสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทยสืบไป
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน นำผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2562 ไปถวายยังพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของ กพร. ผู้มีจิตศรัทธา รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญเป็นจำนวนเงิน 2,159,107 บาท (สองล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นเก้าพันหนึ่งร้อยเจ็ดบาทถ้วน) เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระอารามหลวง พร้อมสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามให้สืบต่อไป
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง ติดกับศาลหลักเมือง เรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า “วัดกลาง” หรือ”วัดกลางนคร วรวิหาร” โดยถือเอาสถานที่ตั้งเป็นสำคัญ แล้วเรียกชื่อวัดอื่นๆ ตามที่ตั้งอยู่ทิศต่างๆ ตามชื่อทิศ เช่น วัดบูรพ์ (บูรพา) วัดอิสาน วัดพายัพ และวัดบึง วัดสระแก้ว รวม 6 วัด ที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง โดยถือเอาวัดพระนารายณ์เป็นจุดศูนย์กลาง ทั้งนี้วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร หรือ วัดกลางนคร จัดเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ ในสมัยก่อนมีพิธีอย่างหนึ่งคือ พิธีที่ข้าราชการทุกแผนก จะต้องสาบานตนว่าตนจะต้องรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดี ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต พิธีนี้เรียกว่า พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ทางราชการได้ใช้วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร เป็นสถานที่ในการประกอบพิธี รวมทั้งให้เป็นสถานที่ทำพิธีสวดเสกน้ำพระพุทธมนต์ถวายในงานพระราชพิธีเสวยราชสมบัติ นอกจากนี้ ยังเคยเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารีตรงมุมทิศพายัพของวัดด้วยซึ่งต่อมา พ.ศ. 2477 จึงได้ย้ายออกจากวัดไปประดิษฐานที่ประตูชุมพล จนทุกวันนี้
“ปัจจุบันวัดพระนารายณ์ ยังมีศิลปะวัตถุแบบสถาปัตยกรรมของสมัยกรุงศรีอยุธยา และปูชนียสถานภายในวัด ประกอบด้วย พระอุโบสถที่ตั้งอยู่เกาะกลางสระบัวทิศตะวันออกของวัด พระวิหารหลวงและเทวรูปพระนารายณ์สี่กร จำหลักด้วยหินทรายฝีมือขอมโบราณ อันเป็นสัญลักษณ์แสดงพระนามผู้สร้างวัด จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความงดงามในภาคอีสาน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่า และเป็นแหล่งแสวงบุญที่สำคัญด้วย” อธิบดี กพร.กล่าว