ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก จ.บึงกาฬ (108) จ.ระนอง (95) จ.ลำปาง (53) จ.ตราด (29) จ.กาญจนบุรี (28) จ.พระนครศรีอยุธยา (19)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,806 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,227 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 12/2566 ในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 2 ส.ค. 66 ดังนี้
• ภาคเหนือ จ.ตาก และอุทัยธานี
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
• ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
• ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
กอนช. จับตาสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิด กำชับทุกหน่วยพร้อมรับมือทั้งท่วม-แล้ง ภายใต้สภาวะเอลนีโญ
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กอนช. ว่า อิทธิพลของพายุตาลิม ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในประเทศไทย 640 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังคงเป็นปริมาณน้ำต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และปริมาณฝนสะสมในภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยังต่ำกว่าค่าปกติ 19%
ประเทศไทยยังคงประสบปัญหาฝนตกน้อย ขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่ที่น่ากังวลมากที่สุด ได้แก่ พื้นที่ภาคกลาง ในขณะที่บางพื้นที่มีฝนตกมาก โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในบางแห่ง
กอนช. ได้ติดตามแผนที่อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องความกดอากาศหรือร่องความกดอากาศต่ำที่จะมีอิทธิพลช่วยทำให้เกิดฝนตกในประเทศไทย ปัจจุบันขยับขึ้นไปอยู่บริเวณเหนือประเทศไทย จากลักษณะดังกล่าว คาดว่าในช่วงวันที่ 26-28 ก.ค. 66 จะมีปริมาณฝนตกน้อยลงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ฝนจะเริ่มกลับมาตกมากขึ้นในช่วงวันที่ 29-31 ก.ค. 66 ซึ่ง กอนช. ได้ออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวัง พร้อมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์แล้ว
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. ได้คาดการณ์ว่า ยังมีโอกาสที่จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยได้ 1-2 ลูก ซึ่ง กอนช. ยังคงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 อย่างเคร่งครัด ทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลศาสตร์ต่าง ๆ เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดผักตบชวา รวมถึงสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ