อธิบดี สถ. ย้ำชัด จัดสรรงบให้ อปท. แล้ว ผู้สูงอายุได้รับเงินเบี้ยยังชีพของปี 62 ตรงเวลาแน่นอน

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ให้แก่ผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ว่าสามารถจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ 3 วิธี คือ 1.รับเป็นเงินสด 2.โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากในนามผู้ที่ได้รับสิทธิ และ 3.ผู้ที่ได้รับสิทธิสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นรับแทนได้เป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ที่รับมอบอำนาจ โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ส่วนกรณีที่บางจังหวัดได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งใช้วิธีการโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิทุกรายนั้น ก็อาจเป็นการเตรียมความพร้อมตามนโยบาย e-payment ของรัฐบาลนั่นเอง

ทางด้านการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 นั้น จะเห็นว่าตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ข้อ 7 ได้กาหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีคุณสมบัติครบถ้วนในปีงบประมาณถัดไป สามารถลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้ที่ อปท. ที่ตนมีภูมิลำเนา ณ สำนักงานของ อปท. หรือสถานที่ที่ อปท. ได้กำหนดไว้ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี และเนื่องจากช่วงระยะเวลาของการลงทะเบียน มีระยะเวลายาวถึง 11 เดือน ทำให้อาจเกิดการลงทะเบียน คร่อมปีงบประมาณถึง 2 ปีงบประมาณ จึงขอแจ้งว่า ในการลงทะเบียนในปี 2561 จะมีช่วงของการลงทะเบียน ดังนี้ 1. ลงทะเบียนช่วงเดือน มกราคม – กันยายน 2561 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2561 จึงเป็นการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในปีงบประมาณ 2562 และ 2. ลงทะเบียนช่วงเดือน ตุลาคม –1พฤศจิกายน 2561 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2562 จึงเป็นการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2563

สำหรับกรณีที่ผู้สูงอายุย้ายที่อยู่ใหม่ ก็ให้ อปท. เดิมจ่ายเบี้ยยังชีพจนถึงสิ้นปีงบประมาณ (กันยายน) และให้ผู้สูงอายุ ไปลงทะเบียน ณ อปท. ที่ไปอยู่ใหม่ เพื่อรับเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณถัดไป (ตุลาคม) และการรับเบี้ยยังชีพแบบขั้นบันได ของผู้ที่มีอายุ 60 70 80 และ 90 ปี มติ ครม. ไม่ได้กำหนดอายุบริบูรณ์ไว้ จึงสามารถรับเบี้ยยังชีพได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณพร้อมกัน รวมถึงการปรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามขั้นบันได ก็จะปรับตามปีงบประมาณ ไม่มีการปรับตามเดือนเกิดแต่อย่างใด

และอีกกรณีหนึ่งที่ยังมีข้อสงสัยว่า หากผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำให้ขาดคุณสมบัติการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือไม่นั้น ก็ขอเรียนว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ได้ระบุไว้ว่า ต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท. รวมถึงผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือ อปท.จัดให้เป็นประจำ จึงทำให้ขาดคุณสมบัติการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และต้องถอดชื่อออกจากบัญชี โดยไม่ต้องมีการประกาศรายชื่อ และหาก เมื่อคุณสมบัติกลับมาครบตามระเบียบฯ ก็ต้องลงทะเบียนใหม่เพื่อรับเบี้ยยังชีพในปีถัดไปนั่นเอง

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับดำเนินการด้านงบประมาณรายการเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับโครงการสร้างหลักประกัน ด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ ที่ให้ อปท. ดำเนินการตั้งงบประมาณในข้อบัญญัติท้องถิ่น/เทศบัญญัติ ในหมวดงบกลาง ประเภทเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2562 งวดที่ 1 (ตุลาคม – ธันวาคม 2561) เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 17,051,595,900 บาท ให้แก่ อปท. เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้มั่นใจได้ว่า ผู้สูงอายุทุกท่านจะได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพได้ตรงตามเวลาอย่างแน่นอน

ก็ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และมีคุณสมบัติครบถ้วน มาลงทะเบียน เพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. ประจำปี 2563 ได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 และเดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2562 ด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่น เป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทน โดยมีเอกสารตามที่ราชการกำหนดไว้ เพื่อจะได้มีสิทธิ์รับเงินเบี้ยยังชีพ โดยจัดเตรียมเอกสารหลักฐาน ดังนี้ 1.บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย 2.ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เป็นปัจจุบัน และ 3.สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิ์ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ์ นายสุทธิพงษ์กล่าว