กรมวิชาการเกษตรเพิ่มมูลค่าเมล็ดมะม่วงวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูป สู่โลชั่นผิวขาว ป้องกันการเกิดริ้วรอย

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  มะม่วงเป็นผลไม้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจของชนิดหนึ่งประเทศ  นอกจากการขายผลเพื่อบริโภคสดแล้ว ยังมีการแปรรูปมะม่วงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและเพิ่มมูลค่า  โดยพันธุ์ที่นิยมใช้แปรรูปกันอย่างกว้างขวางคือ มะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้น  ซึ่งในกระบวนการแปรรูปมะม่วงจะมีส่วนเหลือทิ้งสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนดังกล่าวเป็นเมล็ดมะม่วงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้เกิดขยะเหลือทิ้งจากการกระบวนการแปรรูปมะม่วงเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เมล็ดมะม่วงที่เหลือทิ้งจะมีส่วนที่เป็นเนื้อในเมล็ดมะม่วงอยู่ถึง 45-75 เปอร์เซ็นต์ของเมล็ดมะม่วงทั้งหมด ซึ่งเนื้อในเมล็ดมะม่วงมีไขมันเป็นองค์ประกอบ 7-12 เปอร์เซ็นต์ ไขมันที่สกัดได้จากเนื้อในเมล็ดมะม่วงมีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ ทั้งการมีช่วงอุณหภูมิของการหลอมเหลวใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกาย ทำให้สามารถละลายและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวมนุษย์ได้ดี นอกจากนี้ยังมีรายงานการค้นพบสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดในไขมันจากเนื้อในเมล็ดมะม่วง เช่น สารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ และสารประกอบฟินอลิก ที่สามารถทำให้ผิวขาวขึ้น และป้องกันการเกิดริ้วรอยที่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลผลิตเกษตร  กรมวิชาการเกษตร  ได้วิจัยคุณสมบัติที่สำคัญของไขมันที่สกัดได้จากเนื้อในเมล็ดมะม่วงเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พบว่า ไขมันเนื้อในเมล็ดมะม่วงแก้วขมิ้นมีกรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวเป็นองค์ประกอบ 37.89 และ 62.11 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ มีจุดหลอมเหลวที่ 36.67 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์

เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติที่สำคัญทางเครื่องสำอาง พบว่ามีความสามารถในการยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชัน  และยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นสาเหตุความหมองคล้ำของผิว รวมทั้งสามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ไฮยารูลอนิเดสที่ทำหน้าที่ในการย่อยกรดไฮยาลูรอนิคที่กักเก็บความชุ่มชื่นใต้ผิวหนัง และยังมีความสามารถในการยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์อีลาสเตสและคอลลาจีเนสที่เป็นสาเหตุของริ้วรอยและความเหี่ยวย่น

งานวิจัยนี้ได้นำไขมันเนื้อในเม็ดมะม่วงมาทำเป็นส่วนผสมสำคัญในการให้ความชุ่มชื่นในโลชั่นทาผิว ที่ปริมาณ 1.0-3.0 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก พบว่า ค่าความเป็นกรด-ด่างของโลชันเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 478-2555 “ผลิตภัณฑ์ทาบำรุงผิว” และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองโดยการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง

ดังนั้นไขมันเนื้อในเมล็ดมะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้นที่ได้มาจากส่วนเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปจึงสามารถใช้เป็นส่วนผสมเพื่อให้ความชุ่มชื่นในเครื่องสำอางต่าง ๆ ได้ และยังสามารถใช้แทนไขมันจากพืชที่มีราคาแพงเช่น ไขมันจากเมล็ดโกโก้และเมล็ดเชียที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องสำอางที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ซึ่งงานวิจัยนี้สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนหนึ่งในกุญแจสำคัญของนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่โดยนำทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์ในขั้นแรกไปแล้วนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตอีกครั้ง  โดยอาจนำกลับมาใช้ใหม่หรือผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับส่วนเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตเพื่อปริมาณขยะจากภาคการผลิตให้เป็นศูนย์ (ZERO WASTE)