กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุขและสปป.ลาว ร่วมตอกย้ำความมั่นใจผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากไทยสด สะอาด มีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน วันที่ 20 – 22 ส.ค. นี้ พร้อมส่งออกจากไทย ร่วมงาน “อาหารทะเลไทย ปลอดภัยจากการปนเปื้อนโควิด-19 (Thai Seafood Festival) ณ ตลาดบึงทาดหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
อุตสาหกรรมสัตว์น้ำเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทยที่สร้างรายได้เป็นอันดับต้น ๆ ของสินค้าเกษตร โดยในปี 2560 – 2563 มูลค่าการส่งออกของประเทศไทยในแต่ละปีมีมากกว่า 196,000 ล้านบาท โดยสินค้าสัตว์น้ำส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง ปลาสดแช่เย็น/แช่เยือกแข็ง กุ้งสดแช่เย็น/แช่เยือกแข็ง กุ้งปรุงแต่ง แต่จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลทำให้หลายประเทศออกมาตรการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว ส่งผลให้หลายประเทศต่างต้องปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้รวมถึงประเทศไทย
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และขอยืนยันว่าเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถปนเปื้อนเข้าไปอยู่ในตัวสัตว์น้ำได้ เนื่องจากยังไม่พบรายงานการปนเปื้อนเชื้อในตัวสัตว์น้ำ อีกทั้งสัตว์น้ำจัดเป็นสัตว์เลือดเย็นและใช้เหงือกในระบบการหายใจ จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับการระบาดที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ดังนั้นสัตว์น้ำจึงไม่ใช่พาหะในการกระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 สู่คน แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนของกระบวนการผลิตที่มนุษย์ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
ปัญหาดังกล่าวนี้กรมประมงจะได้ดำเนินการควบคุม ตรวจสอบ กำกับดูแลสุขลักษณะด้านความปลอดภัยต่อการบริโภคสินค้าสัตว์น้ำตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งออก และเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าสินค้าสัตว์น้ำทั้งที่ส่งออกและนำเข้ามาประเทศไทย มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อการบริโภค เป็นไปตามมาตรฐาน และข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าและมาตรฐานของกรมประมง หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) การปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ นอกจากนี้ กรมประมงได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนไวรัสโคโรน่า 2019 ในสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต ประกอบด้วย เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง เรือประมง สุขอนามัยเรือประมง ผู้ประกอบการสะพานปลา/ตลาดกลางค้าสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการร้านค้า Modern trade เพื่อให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในความปลอดภัยของสัตว์น้ำที่ใช้บริโภค
สปป.ลาว เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีมีการนำเข้าสินค้าประมงจากประเทศไทยกว่า 50 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สปป.ลาวได้ระงับการนำเข้าอาหารทะเลเป็นการชั่วคราวและประเทศไทยได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างความมั่นใจให้กับอาหารทะเลของไทย จนในที่สุดด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ตลาดของสปป.ลาว
เปิดรับอาหารทะเลจากประเทศไทยอีกครั้ง
รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า งาน“อาหารทะเลไทย ปลอดภัยจากการปนเปื้อนโควิด-19 (Thai Seafood Festival) เป็นงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของประเทศไทย และ สปป.ลาว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่ร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน สุดท้ายนี้กรมประมงขอยืนยันว่าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากประเทศไทยสด สะอาด ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตามที่ได้
กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างแน่นอน ®
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ / 19 สิงหาคม 2564