สทนช. ร่วมประชุมเวทีปรึกษาหารือระดับภูมิภาค โครงการ P-LINK ครั้งที่ 3 เสริมสร้างความร่วมมือด้านน้ำ-อาหาร-พลังงาน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง

เมื่อวันที่ 16 – 17 กรกฎาคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการ สทนช. ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. และนายนริศ อาจหาญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ เข้าร่วมการประชุม 3rd P-LINK Regional Consultative Forum  ณ โรงแรม Central Palace Hotel เมืองโฮจิมินท์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

วัตถุประสงค์ของการประชุมฯ เพื่อให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งดำเนินโครงการความร่วมมือไตรภาคีด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ-อาหาร-พลังงาน (WFE Nexus) หรือ P-LINK ได้ร่วมกันรายงานความก้าวหน้าของโครงการนำร่อง แลกเปลี่ยนบทเรียนจากการดำเนินงานจริง และหารือแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดการทรัพยากรอย่างบูรณาการ โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก นักวิชาการ และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมฯ

ทั้งนี้ ผู้แทน สทนช. พร้อมผู้แทนจากท้องถิ่นพื้นที่ดำเนินโครงการนำร่องของไทย ได้ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ “การพัฒนาปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำประปาหมู่บ้านสำหรับ หมู่ 1 , 2 และ 3 ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ” โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ผ่านการสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากสาธารณรัฐเกาหลี โดยปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระยะทดสอบระบบ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลการใช้งานจริง โดยชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการ รวมถึงการฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย

นอกจากนี้ คณะผู้แทนประเทศไทยยังได้ร่วมการศึกษาดูงาน ณ จังหวัดลองอาน และจังหวัดเตียนยาง ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และน้ำ เพื่อรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และการปลูกพืชเศรษฐกิจภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากร อาทิ แก้วมังกร ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการจัดการจัดการทรัพยากรอย่างบูรณาการตามแนวคิด WFE Nexus โดยมีการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกร นักวิจัยท้องถิ่น และสถาบันวิจัยในพื้นที่ เพื่อนำแนวทางดำเนินงานดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย ภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงทรัพยากรน้ำ อาหาร และพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป