พม. ดึงเครือข่ายสตรีทั่วประเทศ พัฒนาแผนปฏิบัติการอาเซียน 10 ปี ฉบับใหม่ หนุนขจัดความรุนแรงต่อสตรี พร้อมใช้กลไก ศรส.-ศบปภ. ช่วยกลุ่มเปราะบาง

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 นายอนุกูล ปีดเแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระดับประเทศ เรื่องแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (RPA on EVAW) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยมี นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, Mr. David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC), คุณฮุลดา อูดา ผู้ประสานงานระดับภูมิภาค องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (UN WOMEN), ผู้แทนเครือข่ายด้านสตรี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

นายอนุกูล กล่าวว่า ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเป็นสตรี และกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นสตรีที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปี ถือเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันพบว่า มีสตรีและเด็กผู้หญิงถูกล่วงละเมิดและถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ในทุกสังคม ทุกประเทศ และทุกภูมิภาคทั่วโลกเช่นกัน นอกจากนี้ ความรุนแรงต่อสตรียังมาในรูปแบบของการจำกัดการเข้าถึง การควบคุม และการเป็นเจ้าของทรัพยากรต่าง ๆ หรือแม้แต่กระบวนการที่ขวางกั้นไม่ให้สตรีได้มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญมาโดยตลอด ด้วยตระหนักดีว่าสตรีนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จึงได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 ให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรีและเด็กผู้หญิง ซึ่งประเทศไทยได้บูรณาการสาระสำคัญของ SDGs เป้าหมายที่ 5 เข้ากับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12-13 โดยกระทรวง พม. เป็นหน่วยงานประสานงานกลาง (Focal Point) ในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ซึ่ง กระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลาง (Focal Point) ได้ร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่าย ดำเนินการตามพันธกรณีที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด โดยได้มีการจัดทำรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และได้นำเสนอด้วยวาจาต่อคณะกรรมการ CEDAW ที่องค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 ซึ่งคณะกรรมการ CEDAW ได้ให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนพันธกรณีของประเทศไทย เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีต่อไป

ในระดับภูมิภาคอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน “การส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการสร้างประชาคมอาเซียน และสามารถใช้ศักยภาพของตนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ” สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวง พม. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานประสานงานกลาง (Focal Point) ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน รวมทั้งเป็นคณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี (ACW) และการประสานการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ที่เป็นกลไกหลักของอาเซียนในการคุ้มครองสิทธิสตรี ทั้งในเรื่องการยุติความรุนแรง และให้ความสำคัญกับกลุ่มสตรีข้ามชาติ และการขับเคลื่อนเรื่องสตรีกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชดา ไชยคุปต์ เป็นผู้แทนประเทศไทยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีใน ACWC

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบทบาทในการนำเสนอและพัฒนาข้อริเริ่มและโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญ ส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างพลังและคุ้มครองสิทธิสตรีเป็นจำนวนมาก อาทิ การริเริ่มก่อตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) , โครงการเสริมสร้างพลังเศรษฐกิจด้วยพลังสตรี และ โครงการส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่ตอบสนองต่อมิติเพศ หรือแม้แต่การรณรงค์เพื่อต่อต้านความรุนแรงทางออนไลน์ต่อสตรีและเด็กผู้หญิง นอกจากนี้ ยังมีโครงการดี ๆ อีกมากมายที่ประเทศไทยได้ริเริ่มและร่วมขับเคลื่อนกับประเทศสมาชิกอาเซียน

สำหรับเรื่องของการขจัดความรุนแรงต่อสตรี ประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการผลักดันระดับนโยบาย โดยเฉพาะในส่วนของการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ (RPA on EVAW) เมื่อปี 2558 และในระยะเวลา 10 ปีของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการขับเคลื่อนหลักการสู่การปฏิบัติ โดยที่เรามีบทบาทนำในหลายเรื่องของแผนปฏิบัติการดังกล่าว อาทิ เรื่องของการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และการป้องกันการเกิดความรุนแรงในครอบครัว สถานที่ทำงาน สถานศึกษา พื้นที่สาธารณะ การรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่สาธารณชนร่วมกันต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง โดยเฉพาะในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในสังคม รวมทั้งการพัฒนากฎหมายภายในประเทศ

นายอนุกุล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลทางสถิติระบุว่า สตรีไทย 1 ใน 4 คน มีโอกาสเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และที่สำคัญประมาณร้อยละ 10 ของสตรีที่มีอายุระหว่าง 15-49 ปี เคยได้รับความรุนแรงทางกายหรือทางเพศจากคู่รักหรืออดีตคู่รัก ซึ่งกระทรวง พม. ได้ตระหนักถึงปัญหาสังคมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงได้ตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชนกลุ่มเปราะบาง รวมถึงสตรี เด็ก คนพิการ และผู้สูงอายุ ที่ได้รับความเดือดร้อนทางสังคม ผ่านทางสายด่วน พม. โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีทีมปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ มีการตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) ทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ศรส. และ ศบปภ. ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ (RPA on EVAW) และยังเป็นการตอบสนองต่อข้อเสนอแนะจากการประเมินผลครึ่งแผน เมื่อปี 2564 อีกด้วย

วันนี้หลังจากทศวรรษแห่งการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ (RPA on EVAW) มีการทบทวนความก้าวหน้าร่วมกัน รวมถึงความท้าทายที่ยังคงมีอยู่ พร้อมกับถอดบทเรียน เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางในอนาคตของแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ สำหรับอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และองค์การระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องบรรทัดฐานทางสังคมด้านเพศภาวะ (Gender Norms) ของสังคมไทยที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน หรือเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ได้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการฯ (RPA on EVAW) ในช่วงแรกมาแล้ว อาทิ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือ Digital Disruption เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมคุกคามและล่วงละเมิด เช่น การข่มขู่ คุกคามทางเพศผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย การเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวหรือภาพที่ไม่เหมาะสมโดยไม่ได้รับอนุญาต และการกลั่นแกล้งทางเพศออนไลน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต และ ความปลอดภัยและเสรีภาพของสตรี โดยเฉพาะสตรีในกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้สร้างความสลับซับซ้อน และความท้าทายในการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ จะสะท้อนทั้งความสำเร็จ ปัญหา อุปสรรค และความท้ายทายของประเทศไทยในการร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ (RPA on EVAW) ฉบับปัจจุบัน ในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และจะเป็นภาพฉายที่ชัดเจนสำหรับประเทศไทยในการความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนสำหรับการพัฒนาแผนปฏิบัติการฯ (RPA on EVAW) ฉบับใหม่ สำหรับปี 2569-2578 ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านคำนึงถึงบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสุดยอด (Super-Aged Society) เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้านี้ สถานการณ์โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตในต่าง ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ความขัดแย้ง มลพิษ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเราทุกคนต้องไม่ลืมว่าผลของการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาแผนปฏิบัติการฯ (RPA on EVAW) ฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นในห้วง 10 ปีแรกของการเดินหน้าสู่ประชาคมอาเซียน 2045 ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 (ASEAN Vision 2045) ที่กำหนดให้ประชาคมอาเซียนมีความยืดหยุ่น มีนวัตกรรมเต็มไปด้วยพลวัต ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ ตลอดจนการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและเด็กอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ปลอดภัย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #5×5ฝ่าวิกฤติประชากร #พมหนึ่งเดียว #วราวุธศิลปอาชา #ศบปภ #พันธกิจสำคัญ9ด้าน #การประชุม #แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี #RPAonEVAW #ACWC #ACW #CEDAW #SDGs