เคลื่อนพล! ระดมภาคีเครือข่ายเครือข่ายสานพลังออกแบบนโยบายสาธารณะ เตรียมความพร้อมการจัดการ “ระบบสุขภาพในภาวะวิกฤติ” รับมือการเผชิญเหตุภัยพิบัติ มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุเป็นสำคัญ เสนอการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูล Big Data ระหว่างหน่วยงาน คือหัวใจจัดการภัยพิบัติ แนะตั้ง “กองทุนป้องบรรเทาภัยพิบัติ” ในระดับชุมชน-ท้องถิ่น ปลดล็อกข้อจำกัดงบประมาณเบิกจ่ายแบบราชการ ด้านภาคประชาสังคมในพื้นที่ภัยพิบัติ ชี้ต้องเร่งสร้าง Single Command แบบฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยพิบัติ เหตุ ป้องกันความสับสน เพิ่มเอกภาพการบริหารจัดการ
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สานพลังจัด ประชุมปรึกษาหารือ (ถกแถลง) เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ประเด็นระบบสุขภาพในภาวะวิกฤต: ระบบจัดการเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วม-ยั่งยืน เพื่อให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) จากผู้นำหลากหลายหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมควบคุมโรค กรมอุตุนิยมวิทยา สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประเทศไทย ฯลฯ ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางในการออกแบบนวัตกรรมต่อกรอบและขอบเขตประเด็นนโยบายสาธารณะระบบสุขภาพในภาวะวิกฤติ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 – 28 พ.ย. 2568 นี้ ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี
พญ.ประนอม คําเที่ยง ประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นระบบสุขภาพในภาวะวิกฤติ เปิดเผยว่า ความสำคัญของการประชุมคือการมาร่วมกันเติมเต็มประเด็นที่จะสร้างระบบการจัดการภัยพิบัติ ตามหลักการ 2P2R คือการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบ ซึ่งเรียกระยะนี้ว่า เป็นระยะเตรียมการก่อนเกิดภัย ต่อมาคือการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินในระยะที่กำลังเกิดภัย และประการสุดท้ายคือการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ ซึ่งหลักการของ 2P2R จะเป็นกรอบและหลักการที่จะร่วมกันระดมความเห็นจากภาคีเครือข่ายเกือบทุกภาคส่วนในวันนี้ เพราะในทุกๆกระบวนการขั้นตอน ทุกระยะจะต้องดำเนินการแบบมีส่วนร่วม จึงจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้
ทั้งนี้ การถกแถลงที่เกิดขึ้นมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเลือกประเด็นที่ตนมีความเชี่ยวชาญหรือตรงกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่สังกัดได้ ทั้งสิ้น 3 กลุ่มย่อย โดยแบ่งตามประเด็น ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ระบบจัดการลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน (ระยะการป้องกันและลด ผลกระทบ และระยะเตรียมความพร้อม) กลุ่มที่ 2 ระบบจัดการลดผลกระทบจากภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน (ระยะการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและระยะการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ) กลุ่ม 3 ระบบการจัดการภัยพิบัติระดับพื้นที่
“สิ่งที่คาดหวังจากการประชุมคือจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายที่เข้ามาร่วมถกแถลงเกิดการสานพลัง บูรณาการการทำงานร่วมกันตั้งแต่ในระดับชุมชนจากภาคประชาชน ระดับหน่วยงานส่วนกลางของภาครัฐ และภาควิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้ภาคีเครือข่ายได้มาเสริมพลังเพื่อปิดจุดอ่อนของกันและกัน ใช้จุดแข็งของอีกฝ่ายไปช่วยปิดจุดอ่อนให้อีกฝ่าย เช่นภาครัฐมีงบประมาณแต่ไม่มีกำลังคน ขณะที่ชุมชนมีคนทำงาน แต่ยังขาดการได้รับการสนับสนุนเรื่องงบประมาณ จะทำยังไงให้เกิดการหนุนเสริมกันทั้งเรื่องกำลังคน งบประมาณ การบริหารจัดการ การสื่อสาร ฯลฯ เพื่อจัดการภัยพิบัติได้ดี” พญ.ประนอม กล่าว
สำหรับผลจากการร่วมระดมความคิดเห็นจากวงเวทีการถกแถลง ที่มีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้ข้อสรุปในแต่ละประเด็นดังนี้ กลุ่มที่ 1 ได้นำเสนอว่าการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ระหว่างหน่วยงาน หรือ Big Data คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการภัยพิบัติ เพราะสามารถนำไปประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และระดมทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ควรมีแหล่งข้อมูลที่ระบุพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีความน่าเชื่อถือให้เป็นแหล่งข้อมูลเดียวกัน มีการดึงข้อมูลจาก Open source มาเป็น Dashboard เดียวกัน การมีระบบเฝ้าระวัง เตือนภัย แบบเรียลไทม์ในพื้นที่ เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 ได้นำเสนอสิ่งที่สำคัญควรดำเนินการในระยะการตอบโต้และการฟื้นฟูว่า ควรจะต้องมีระบบการติดตามประเมินผลการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล เพิ่มการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมให้ชุมชนและท้องถิ่น โดยบูรณาการภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ให้มาร่วมกันร่วมกันรับผิดชอบ และที่สำคัญคือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณเพื่อลดความซ้ำซ้อนกันของกลุ่มเป้าหมาย โดยเสนอให้มีการตั้งกองทุนบรรเทาภัยพิบัติในระดับชุมชนหรือท้องถิ่น (ที่ไม่ใช่หน่วยนงานภาครัฐ)
กลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นการนำเสนอจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และขับเคลื่อนการทำงานอยู่ในพื้นที่ ได้สะท้อนว่า ควรจะต้องการจัดตั้งการบัญชาการเดี่ยว (Single Command) ขึ้นมาแบบฉุกเฉิน ที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะรับผิดชอบบริหารจัดการเหตุการณ์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และเกิดความเป็นเอกภาพในการสั่งการและทิศทางการดำเนินงาน
นพ.วรัญญู สัตยวงศ์ทิพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือการนำเสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อนำมาบริการจัดการเรื่องการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งหากทำได้จริงก็จะถือเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาการติดขัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่คล่องตัวในการรับมือกับภัยพิบัติ โดยสิ่งที่ สช. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการผลิตนโยบายสาธารณะผ่านการรับฟังรายละเอียดปัญหา รวมถึงข้อเสนอต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา นอกเหนือจากข้อมูล สิ่งที่สำคัญที่ได้คือการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการสานพลังเพื่อผลักดันให้สิ่งที่หารือกันในวันนี้เกิดการขับเคลื่อนจริงในทางปฏิบัติ วันนี้เป็นเพียงขั้นตอนกระบวนการขาขึ้นนโยบายเท่านั้น สิ่งที่เราต้องร่วมกันทำต่อไปคือผลักดันขาเคลื่อนให้เกิดขึ้นให้ได้
ทั้งนี้ การประชุมหารือกันในประเด็นระบบสุขภาพในภาวะวิกฤต ถือเป็น 1 ใน 5 ประเด็น ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 – 28 พ.ย. 2568 นี้ เพื่อรับรองและผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คำว่าระบบสุขภาพในภาวะวิกฤติอาจจะมีมิติที่กว้างเกินไปเพราะวิกฤตินั้นมีหลายรูปแบบ ทางทีมคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ จึงมุ่งมาสู่การจัดการในสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้เผชิญเหตุภัยพิบัติมาหลากหลายรูปแบบทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วมน้ำหลาก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางทีมคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ ได้ดำเนินการศึกษาทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้มีการจัดเวทีถกแถลงร่วมกับภาคีเครือข่ายมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2568 จนได้ข้อสรุปเรื่องช่องว่างการดำเนินงานในการจัดภัยพิบัติที่ผ่านมา ทั้งในด้านโครงสร้างการบริหารจัดการ ทรัพยากรบุคคล ระบบสารสนเทศ การสื่อสารความเสี่ยง และการเข้าถึงบริการ ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้จึงต้องหารือเพื่อร่วมกันปิดช่องว่างดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยให้ความสำคัญไปที่การจัดการในระยะการป้องกันและลด ผลกระทบ และระยะเตรียมความพร้อมเป็นสำคัญ เพราะที่ผ่านมา การจัดการในระยะตอบโต้ขณะเผชิญเหตุภัยพิบัติ และการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ มีหลายหน่วยงาน รวมถึง สช. ได้ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ควรเพิ่มเติมและยังเป็นช่องว่างอยู่คือการป้องกัน และเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งในการลดผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน