1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.แพร่ (201 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุดรธานี (51 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (47 มม.) ภาคกลาง : จ.นนทบุรี (2 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ฉะเชิงเทรา (34 มม.) ภาคใต้ : จ.สุราษฎร์ธานี (63 มม.)
วันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประเทศลาว และเวียดนามตอนบน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 14 – 17 ก.ค. 68 ประเทศไทยจะยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (45,957 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 38% (21,841 ล้าน ลบ.ม.)
– ภาคเหนือ 14,930 (54%)
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,586 (47%)
– ภาคกลาง 501 (25%)
– ภาคตะวันออก 1,384 (45%)
– ภาคตะวันตก 18,441 (65%)
– ภาคใต้ 5,115 (66%)
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (11 ก.ค. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากประเทศไทย ได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้แทนจากสปป.ลาว ได้แก่ เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว พร้อมด้วย ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมอุตุนิยมวิทยาเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อประสานงานด้านอุทกภัยและโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ (Ad Hoc Task Team for Joint Flood and Hydropower Coordination) ครั้งที่ 2 ณ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมีนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ CEO สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมเจ้าหน้าที่ MRCS สนับสนุนข้อมูลวิชาการในการประชุม เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการพยากรณ์ฝน (rainfall forecast) การจำลองปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน (inflow simulation) และการจัดทำระบบติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างเป็นระบบและประสานสอดคล้องกัน
ในการประชุมดังกล่าว MRCS ได้นำเสนอข้อจำกัดทางเทคนิคของประเทศสมาชิก เช่น ความท้าทายในการจำลองปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน การแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกอุตุนิยมวิทยาที่ครบถ้วน และแผนการระบายน้ำจากเขื่อน ในการเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำสาขาเข้ากับแม่น้ำโขงสายหลัก พร้อมเสนอแนวคิดการพัฒนาแบบจำลองต้นแบบ (prototype) โดยใช้ข้อมูลคาดการณ์ฝน ร่วมกับแบบจำลองประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน และการคำนวณระยะเวลาไหลของน้ำ (Travel Time) ในลำน้ำสาขาของ สปป. ลาว เพื่อประเมินผลกระทบต่อแม่น้ำโขงสายหลัก พร้อมยกตัวอย่างการประเมินปริมาณน้ำของเขื่อนน้ำอู 7 แห่ง ของ สปป. ลาว เพื่อเตรียมปรับแผนการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนนี้
โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคาดการณ์ล่วงหน้าและแบบจำลองศักยภาพการกักเก็บน้ำและความปลอดภัยของเขื่อน เพื่อรองรับการระบายน้ำในฤดูฝน โดยได้ขอความร่วมมือจาก สปป.ลาว ในการแบ่งปันข้อมูลการบริหารจัดการเขื่อน โดยเฉพาะแผนการระบายน้ำระยะสั้น เพื่อพัฒนาแบบจำลองร่วมกัน และยินดีแบ่งปันข้อมูลในส่วนขอประเทศไทยด้วยเช่นกัน พร้อมได้เร่งรัดขอให้ MRCS พัฒนาแบบจำลองต้นแบบตามที่นำเสนอไว้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ผลจากการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทย และ สปป.ลาว ได้มีมติเห็นชอบแนวทางความร่วมมือในลำดับถัดไป ได้แก่ การจัดประชุมระดับประเทศเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลร่วมด้านอุทกวิทยาและเขื่อน การเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงอุทกภัย และการจัดทำร่างแผนความร่วมมือบริหารจัดการการระบายน้ำจากเขื่อน โดยใช้ข้อมูลฝนคาดการณ์ร่วมกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ real-time
4. พื้นที่ประสบอุทกภัย : สถานการณ์อุทกภัย วันที่ 12 ก.ค. 68 ในพื้นที่ 4 จ. 6 อ. ได้แก่ จ.น่าน (อ.นาน้อย และเวียงสา) จ.แพร่ (อ.ร้องกวาง) จ.อุตรดิตถ์ (อ.ฟากท่า และบ้านโคก ) และ จ.ตราด (อ.เขาสมิง)