กรมประมงเข้าร่วมการประชุม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่ 1-6 กรกฎาคม 2568 กรมประมงเข้าร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพลิกโฉมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ครั้งที่ 3 (The 3rd High level Meeting on Aquaculture Transformation: HLM 3) เพื่อร่วมระดมความเห็นกับประเทศพันธมิตรในการขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างยั่งยืน พร้อมนำนโยบายขยายผลต่อเนื่องในการประชุมองค์การข่ายงานศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งเอเชียและแปซิฟิก (NACA) ครั้งที่ 34 (The 34th NACA Governing Council Meeting: GCM 34) ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ

นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง ได้รับมอบหมายจาก นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เปิดเผยว่า การประชุม HLM3 จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ NACA และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระหว่างวันที่ 1 – 2 กรกฎาคม 2568 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้แนวคิด Aquaculture Transformation through Innovations and Financing เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแนวทางในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน และการนำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์น้ำ พร้อมเสริมสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อต่อยอดและขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง รวมถึง ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยุคใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระดับภูมิภาคให้เกิดความยั่งยืนต่อไป โดยการประชุมครั้งนี้กรมประมงได้นำเสนอกิจกรรมสำคัญที่จำเป็นต่อการยกระดับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่

1. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีที่ทันสมัยและการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการดำเนินโครงการ Nature-based Solutions (NbS) เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

2. การพัฒนาสายพันธุ์สัตว์น้ำคุณภาพสูง ส่งเสริมการใช้ลูกพันธุ์และพ่อแม่พันธุ์ที่มีพันธุกรรมดี เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ลดระยะเวลาการเลี้ยง และสร้างภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ กุ้งก้ามกราม กุ้งขาวแวนนาไม ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาหมอ

3. การถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนโครงการ Smart Farmers ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

4. การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น การเพิ่มมูลค่าเศษเหลือเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำด้วยการผลิต Fish silage/Fish hydrolysate และเกษตรอินทรีย์ และโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่ช่วยลดต้นทุนและยกระดับมาตรฐาน GAP ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและสากล

5. การยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผ่านการสนับสนุนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และงบประมาณจากพันธมิตร โดยการนำแนวทาง Progressive Management Pathway for Improving Aquaculture Biosecurity (PMP/AB) มาปรับใช้ และการดำเนินโครงการ Biosecurity and Rapid Response Initiative for Sustainable Aquaculture เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำของไทยให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้ กรมประมงยังได้นำเสนอผลงาน (Showcase) การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้ระบบอัจฉริยะในการบริหารจัดการฟาร์ม การใช้พลังงานทางเลือก การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้อาหารและควบคุมคุณภาพน้ำ รวมถึง นำเสนอแนวทางการพัฒนาและผลักดันระบบการรับรอง “กุ้ง Low Carbon” ของไทย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการเพาะเลี้ยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างจุดขายใหม่ให้กับกุ้งไทยในตลาดโลกอีกด้วย

รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม HLM3 ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี NACA ครั้งที่ 34 (GCM 34) ระหว่างวันที่ 2 – 6 กรกฎาคม 2568 ณ เมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประเทศไทยนอกจากเป็นรัฐสมาชิก NACA แล้ว ยังเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่เป็นศูนย์กลางการประสานงานระดับภูมิภาค (Regional Lead Centre, Thailand: RLCT) ได้นำเสนอกิจกรรมและความก้าวหน้าด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด อาทิ สถานะและผลผลิตสัตว์น้ำจืดของประเทศไทย การวิจัยเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำท้องถิ่น การวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ห่วงโซ่คุณค่าของภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด รวมถึงพัฒนาการและความท้าทายของการดำเนินงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดของ RLCT ในช่วงที่ผ่านมา โดยได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมถึงความสำคัญของการนำแนวทางการปฏิบัติของ FAO ซึ่งประกอบด้วย Guidelines for Sustainable Aquaculture และหลักการ Aquaculture Transformation มาประยุกต์ใช้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยได้ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว

“อย่างไรก็ตาม กรมประมงในฐานะรัฐสมาชิก NACA ยังได้ให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง NACA กับรัฐสมาชิกให้มีความเข้มแข็ง สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งการมีส่วนร่วม เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มีความยั่งยืนต่อไป”…รองอธิบดีฯ กล่าว