สธ. เดินหน้าลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชน ฉีดวัคซีน HPV นักศึกษาหญิงระดับอุดมศึกษาเพิ่มอีก 1 ล้านโดส ภายในปี 2568 พร้อมสร้างความตระหนักรู้การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าป้องกันมะเร็งปากมดลูกและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จัดกิจกรรม“Equality with safety: HPV x Condom ทางเรียบหรือทางลุย ก็มั่นใจปลอดโรค” ฉีดวัคซีน HPV นักศึกษาหญิงในสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่เคยได้รับวัคซีน เพิ่มอีก 1 ล้านโดส ภายในปี 2568 นำร่องสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดความเสี่ยงและผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ ลดค่าใช้จ่ายประเทศในการรักษา HIV/เอดส์ ด้วยยาต้านไวรัส

วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ หอประชุมใหญ่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมส่งเสริมการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ “Equality with safety: HPV x Condom ทางเรียบหรือทางลุย ก็มั่นใจปลอดโรค” โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้บริหารหน่วยงาน อสม./อสส. และนักศึกษา ร่วมงานกว่า 1,000 คน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายให้คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ โดยดูแลสุขภาพทุกมิติ ทั้งการคัดกรอง ป้องกัน ค้นหา ดูแลรักษา ยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นปัญหาสำคัญ โดยปี 2567 มีการฉีดวัคซีนป้องมะเร็งปากมดลูก (HPV) ให้กับหญิงไทยอายุ 11 – 20 ปี ไปแล้ว 2 ล้านโดส และในปี 2568 ได้ตั้งเป้าหมายฉีดเพิ่มอีก 1 ล้านโดส โดยขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้แนวคิด “Equality with safety: HPV x Condom ทางเรียบหรือทางลุย ก็มั่นใจปลอดโรค” ให้บริการฉีดวัคซีน HPV นักศึกษาหญิงในสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่เคยฉีดมาก่อน นำร่องที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมทั้ง สร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และมีพฤติกรรมทางเพศอย่างรับผิดชอบ บนพื้นฐานของความเสมอภาคและเท่าเทียมทางเพศ ด้วยการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย เพิ่มความครอบคลุมการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ HIV ด้วยตนเอง และให้บริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชน ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสุขภาพทางเพศอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ HIV ลดผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ ลดผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ในระยะยาว ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV /ผู้ป่วยเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสได้

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน อายุ 15 – 24 ปี โดยปี 2567 พบเยาวชนป่วยซิฟิลิสเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า จากปี 2562 (จาก 3,672 ราย เพิ่มเป็น 9,359 ราย) และป่วยหนองในเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า (จาก 6,188 ราย เพิ่มเป็น 8,912 ราย) รวมทั้งพบผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เฉลี่ย 5,422 คนต่อปี และเสียชีวิต 2,238 คนต่อปี จากหลายสาเหตุ เช่น ค่านิยมทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไป มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย เปลี่ยนคู่บ่อย และที่สำคัญที่สุด คือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงไม่ได้เข้ารับบริการสุขภาพที่เหมาะสม เช่น การฉีดวัคซีน HPV ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการติดเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งในอวัยวะเพศและช่องปาก ที่พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

ทั้งนี้ ภายในงานมีการสาธิตการวัดขนาดถุงยางอนามัยที่ถูกต้องแก่ อสม.และอสส. เพื่อนำไปบอกต่อเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ โดยใช้หลัก “เลือกถูกไซซ์ ใช้ถูกวิธี” พร้อมแนะใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับทุกคนและทุกช่องทาง (อวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก) ซึ่งจะป้องกันได้ทั้ง HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมทั้งบริการฉีดวัคซีน HPV นิทรรศการให้ความรู้จากภาคีเครือข่าย และบริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพทางเพศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชนได้ครอบคลุมทุกบริการอย่างเท่าเทียม