เมื่อวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไทย–ฮังการี ครั้งที่ 5 ณ กรุงบูดาเปสต์ ซึ่งปีนี้ประเทศฮังการี โดย General Directorate of Water Resources เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการร่วมว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบ “แผนการดำเนินงานระยะ 3 ปี พ.ศ. 2568–2570” ที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการร่วมดำเนินโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยมีประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในเชิงนโยบาย และการนำไปสู่การปฏิบัติ อาทิ
1. การบริหารจัดการลุ่มน้ำข้ามพรมแดน และยกระดับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)
ฝ่ายไทยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของฮังการีในการบริหารจัดการลุ่มน้ำดานูบ ร่วมกับประเทศสมาชิกในยุโรป ซึ่งต้องเน้นเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ให้เป็นองค์กรลุ่มน้ำที่พึ่งพาตนเองได้ในปี 2573 ตามวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยมุ่งเน้นการลดการพึ่งพางบประมาณจากภายนอก ส่งเสริมบทบาทของคณะผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก และสร้างกลไกความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และความมั่นคงในภูมิภาค
2. เทคโนโลยีจัดการน้ำท่วมและระบบเตือนภัยล่วงหน้า
ทั้งสองฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดทำแบบจำลองน้ำท่วม การจัดทำแผนที่ เสี่ยงภัย และการวางแผนจัดการน้ำท่วมในระยะสั้น กลาง และยาว รวมถึงแนวคิดการจัดเตรียมพื้นที่รับน้ำฉุกเฉิน (Emergency Reservoirs) ตามแนวปฏิบัติของสหภาพยุโรป ซึ่งไทยสามารถศึกษาต่อยอดและนำมาประยุกต์ใช้กับลุ่มน้ำสำคัญที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก สำหรับในส่วนของไทยได้แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี เกี่ยวกับระบบการแจ้งเตือนภัยด้านน้ำและการป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วม ภายหลังการเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ จะช่วยให้การขยายผลการดำเนินงาน ผ่านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำ การพยากรณ์ และแจ้งเตือนภัย ตลอดจนการทบทวนการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังน้ำซึ่งนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเชิงรุกมากยิ่งขึ้น
3. การเติมน้ำลงชั้นน้ำบาดาล (Managed Aquifer Recharge: MAR)
MAR เป็นแนวทางเสริมความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใต้ดิน โดยฮังการียินดีถ่ายทอดเทคนิคการออกแบบระบบ MAR ให้สามารถใช้งานได้จริง โดยคำนึงถึงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน โดยเฉพาะการดำเนินการในระดับชั้นดินลึก ที่เหมาะกับภูมิประเทศของไทย ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งจะมีการคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล คาดว่าจะเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2569 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
4. การพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านน้ำของไทย
ไทยและฮังการีมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ผ่านการศึกษา การส่งเสริมนวัตกรรม และการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ไทยให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตอบโจทย์ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและคณะ ยังได้เข้าร่วมการศึกษาดูงานการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ กรณีแม่น้ำ Tizsa ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศและลำน้ำสาขาของแม่น้ำดานูบ ที่มีต้นน้ำในประเทศโรมาเนีย ก่อนไหลลงสู่ประเทศฮังการี โดยได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ รวมถึงการจัดการกับปัญหาด้านคุณภาพน้ำ ซึ่งเกิดจากประเทศต้นน้ำไหลลงสู่ประเทศท้ายน้ำ ว่ามีกระบวนการปรึกษาหารือ การประสานงาน การกำหนดแนวทางการแก้ไข และบทบาทการขับเคลื่อนขององค์กรอื่น ๆ มีการดำเนินการเช่นไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการนำมาประยุกต์ใช้ อีกทั้งได้มีการศึกษาดูงานการจัดการทะเลสาบ Balaton ที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เชื่อมโยงกับมิติการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ การท่องเที่ยว การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ก้าวต่อไปของความร่วมมือไทย–ฮังการี
การประชุมครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทยและฮังการี ซึ่งลงนามตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และการจัดการ น้ำเสีย ครอบคลุมการศึกษาและวิจัยด้านทรัพยากรน้ำ จนถึงปัจจุบันความร่วมมือได้พัฒนา จากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งผลักดันให้แผนการดำเนินงานดังกล่าว ขยายผลสู่การดำเนินงานในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และสนับสนุนการยกระดับศักยภาพของประเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตอบสนองความต้องการประชาชนที่ทั่วถึง ต่อไป