“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งการเข้มทุกหน่วยและจังหวัดเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยและภัยพิบัติต่าง ๆ เน้นย้ำต้องแจ้งเตือนประชาชนทันเวลาและเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันที

วันที่ 2 กรกฎาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติต่าง ๆ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดหองคาย จังหวัดสกลนคร จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วย นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กองบัญชาการกองทัพไทย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 กรมชลประทาน และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในปีนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝนที่มาเร็วกว่าปกติ ทำให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ร่องมรสุมมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนาม ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบางพื้นที่ในประเทศไทย แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากปริมาณฝนที่อาจตกลงมาในช่วงนี้ แต่จากข้อมูลของ สทนช. และกรมชลประทาน ระดับน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ เนื่องจากได้มีการพร่องน้ำไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเชิงรุกอย่างเต็มที่ในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับมือกับอุทกภัย วาตภัย และธรณีพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การประชุมครั้งนี้จึงเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประเมินความเสี่ยง และเตรียมมาตรการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ โดยนโยบายเหล่านี้ นอกจากจะลดผลกระทบจากอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถเก็บกักน้ำเป็นน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในฤดูแล้งถัดไป เพื่อสนับสนุนการเกษตรและกิจกรรมอื่นได้มากขึ้น

โดยในที่ประชุมวันนี้ได้มอบนโยบายสำคัญหลายประการ เช่น การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าโดย สทนช. เพื่อบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและคาดการณ์พายุ รวมถึงการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 วัน พร้อมตรวจสอบและทดสอบระบบเตือนภัยให้พร้อมใช้งาน นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมทรัพยากรธรณีติดตามสถานการณ์น้ำและธรณีพิบัติภัยอย่างใกล้ชิด ด้านการเตรียมความพร้อมพื้นที่ ได้สั่งการให้เร่งแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และประสานกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขุดลอกลำคลองต่าง ๆ ให้สามารถระบายน้ำได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งเตรียมเครื่องจักรกล อุปกรณ์ อากาศยาน เรือ และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ในระดับจังหวัดไว้ล่วงหน้า รวมถึงพื้นที่อพยพและศูนย์พักพิง พร้อมอาหาร น้ำดื่ม และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในกรณีฉุกเฉิน ในส่วนของการฟื้นฟูและเยียวยา ได้สั่งการให้เร่งสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้เร็วที่สุด พร้อมจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ห่างไกล โดยเน้นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จิตอาสา และมูลนิธิต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและไม่ซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบการแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast (CB) ซึ่งเริ่มเปิดใช้งานแล้วในหลายพื้นที่ และกำลังเร่งขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ความรู้ด้านภัยพิบัติและการเตรียมตัวรับมือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านและบริเวณทะเลอันดามัน ได้สั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์ทันทีหากมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยใช้ระบบ CB แจ้งเตือนประชาชนภายใน 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินมาตรการเชิงรุกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติในทุกรูปแบบ โดยขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว

ด้าน นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 2-6 กรกฎาคม และวันที่ 10-14 กรกฎาคม ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในบางพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะมีฝนตกหนักมาก โดยที่ประชุมได้รับทราบพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยระหว่างเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2568 ตามที่ สทนช. เสนอ โดยจะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์และเตรียมความพร้อมตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด และจากประเมินสถานการณ์การน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเกิดน้ำโขงล้นตลิ่งในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2568 สทนช. จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานและจังหวัดในพื้นที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยได้เตรียมตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดหนองคายในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ สทนช. ได้มีกำหนดประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ครั้งที่ 2 ร่วมกับ สปป.ลาว ในวันที่ 11 กรกฎาคม นี้ เพื่อร่วมกันตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำโขงทั้งระบบ เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำโขงล้นตลิ่งในช่วงฤดูฝนนี้ด้วย