ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รับทราบผลการขับเคลื่อน “ภาคีอาสา” จากการสานพลังของ 9 หน่วยงาน จับมือรวมฐานข้อมูล-ทุน-ทรัพยากร มุ่งสร้างความร่วมมือสู่การพัฒนาพื้นที่เข้มแข็ง พร้อมนำร่องใน 5 จังหวัด หวังช่วยลดความซ้ำซ้อนของการจัดสรรทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ เพื่อตอบสนองปัญหาและความต้องการที่แท้จริง พร้อมมีมติเห็นชอบรายชื่อ “กขป.” เขต 1-13 ชุดใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือก-สรรหาแล้วเสร็จ
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2568 ซึ่งมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล มีมติรับทราบและให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง (Area Strengthening Alliance: ASA) หรือภาคีอาสา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงาน ที่ใช้แนวคิดพื้นที่เป็นฐานและบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อออกแบบและขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่
สำหรับ 9 หน่วยงาน “ภาคีอาสา” ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศในยุคปัจจุบัน คงไม่สามารถที่จะตัดเสื้อโหล ใช้แนวทางเพียงแบบเดียวที่คิดออกมาจากส่วนกลาง แล้วสามารถที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาได้ในทุกพื้นที่ หากจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยแนวทางที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทเฉพาะของแต่ละแห่ง โดยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อออกแบบและขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
“ปัจจุบันในหลายพื้นที่เรายังพบกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ตลอดจนความเปราะบางด้านเศรษฐกิจ ที่ยังคงเป็นความท้าทายและต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งไม่สามารถสำเร็จได้โดยอาศัยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว โดยทางองค์การอนามัยโลกก็ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดการบูรณาการทุกภาคส่วน หรือ Whole-of-Society Approach เป็นแนวทางของการแก้ปัญหาสุขภาพและสังคมที่ซับซ้อน โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรและเสริมพลังให้ชุมชนสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง” นพ.สุเทพ กล่าว
นพ.สุเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเองมีความพยายามส่งเสริมแนวทางการพัฒนาที่บูรณาการและมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ พร้อมกลไกสนับสนุน เช่น โครงการ กองทุนหรืองบประมาณต่างๆ แต่ความท้าทายสำคัญคือยังขาดกลไกเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนในพื้นที่ ขาดความต่อเนื่องของนโยบาย รวมถึงขาดข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายระดับจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันระหว่าง 9 หน่วยงานภาคีอาสา เพื่อเชื่อมโยงการทำงานและบูรณาการทรัพยากรร่วมกันได้มากขึ้น
ขณะที่ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ที่ปรึกษา สช. และหัวหน้าคณะผู้ทำงานภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง กล่าวว่า แนวคิดของการบูรณาการนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2567 ด้วยการหารือระหว่างผู้บริหารสูงสุดจาก 7 หน่วยงานยุทธศาสตร์ ก่อนที่ภายหลังจะมีการขยายเพิ่มเป็น 9 หน่วยงาน ซึ่งได้มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง (ภสพ.) ที่มีการประชุมเป็นประจำในทุกวันพุธที่สองของเดือน พร้อมจัดตั้งคณะผู้ทำงานฯ ที่ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานจาก 9 หน่วยงาน เป็นกลไกในการทำงานร่วมกัน
นพ.ปรีดา กล่าวว่า ทางภาคีอาสาได้กำหนดพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นครสวรรค์ ขอนแก่น ตราด และพัทลุง เป็นจังหวัดนำร่องของการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการร่วมกันตัดสินใจถึงทิศทางการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน พร้อมใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่และบริบทเฉพาะในการออกแบบแผนงาน ซึ่งตั้งแต่เดือน มี.ค. 2568 เป็นต้นมา ทางผู้บริหารของ 9 หน่วยงานภาคีอาสา ได้ร่วมกันลงพื้นที่จัดเวที KICK OFF พร้อมประชุมเพื่อพบปะพูดคุยกับภาคีเครือข่ายครบแล้วทั้ง 5 จังหวัด
“กิจกรรมหลักๆ ใน 5 จังหวัด จะมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลภาคีอาสา (SHARE) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทรัพยากรทางสังคมและสุขภาพร่วมกัน พร้อมกับสร้างเครือข่ายระดับจังหวัดที่หลากหลาย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างข้อตกลง จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพ ที่จะช่วยสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยใช้ทรัพยากรกองทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งหมดนี้เราคาดหวังที่จะช่วยลดความซ้ำซ้อนของการจัดสรรทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณต่างๆ เชื่อมโยงกันเป็นระบบ ตอบสนองปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่” นพ.ปรีดา กล่าว
นพ.ปรีดา กล่าวอีกว่า ในส่วนแนวทางการขยายผลหลังจากนี้ ภายในปี 2569 จะมีการขยายเพิ่มเติมสู่ 8 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ และพัฒนาออกมาเป็นคู่มือในการบูรณาการ ส่วนระยะถัดไปในปี 2570 จะขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นให้เข้าสู่กลไกยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน พร้อมนำไปสื่อสารและจัดเป็นเวทีสาธารณะ เพื่อที่ในอนาคตจะสามารถบูรณาการเข้าสู่ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสร้างต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการขยายผลทั่วประเทศได้ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติเห็นชอบรายชื่อ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 1-13 ชุดใหม่ ซึ่งได้รับการสรรหาและแต่งตั้งขึ้นเพื่อทดแทน กขป. ชุดปัจจุบัน ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 11 ก.ค. 2568 โดยที่ประชุม คสช. ได้มอบหมายให้ สช. เสนอร่างคำสั่งให้ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาลงนามแต่งตั้งต่อไป
อนึ่ง กขป. ถือเป็นกลไกที่มีขึ้นเพื่อรับผิดชอบในการดูแล ประสานงาน และสนับสนุนให้มีการบูรณาการเกี่ยวกับระบบสุขภาพในพื้นที่ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. 2559 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิและวิชาชีพ ผู้แทนภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
สำหรับ กขป. ชุดใหม่นี้ทางคณะกรรมการสรรหาฯ ได้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งรายชื่อผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ รวมถึงรับสมัครผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคเอกชนและภาคประชาสังคม จากภาคีเครือข่ายกลุ่มต่างๆ และจากการเลือกกันเองขององค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข จนได้จำนวนครบ และคณะกรรมการสรรหาฯ มีมติรับรองผลเป็นที่เรียบร้อยไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา