นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดโครงการตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา เส้นทางสักการะพระธาตุนครลำปาง จังหวัดลำปาง ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยนำทุนในมิติทางศาสนาจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยพระธาตุที่สำคัญของจังหวัดลำปาง และเป็นหนึ่งในเส้นทางสักการะพระธาตุประจำปีเกิด 12 นักษัตร ซึ่งเป็นคติความเชื่อของชาวล้านนาที่มีความเชื่อว่าดวงจิตของมนุษย์ก่อนกำเนิดจะสถิตกับพระธาตุที่ต่างกันไปตามแต่ละที่ โดยมี “ตั๋วเปิ้ง” หรือสัตว์ประจำปีนักษัตรพาไปพักเพื่อรอการถือกำเนิดขึ้น ทำให้ชาวล้านนามีความผูกพันกับพระธาตุประจำปีนักษัตรของตน และหาโอกาสไปกราบไหว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล นำมาซึ่งความสงบและความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิต
พระธาตุหรือธาตุเจดีย์ คือ สิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนาที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิหรือเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป สำหรับเป็นที่ระลึกและเคารพบูชา เป็นนัยยะของการสืบทอดพระพุทธศาสนา ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ในตำนานพุทธเจดีย์ว่า “พระพุทธศาสนากำหนดว่าพระเจดีย์ หรือเจดีย์ มี 4 ประเภท ได้แก่ (1) ธาตุเจดีย์ คือสิ่งก่อสร้างบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า (2) บริโภคเจดีย์ คือสังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า (3) ธรรมเจดีย์ คือคาถาที่แสดงพระอริยสัจ หรือคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก และ (4) อุเทสิกะเจดีย์ คือของที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศแด่พระพุทธเจ้า”
ทั้งนี้ จังหวัดลำปางมีศักยภาพในเรื่องของมรดกทางวัฒนธรรมและทุนทางวัฒนธรรม มีศาสนสถานที่มีความงดงามทางศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ศรัทธาของชุมชน สมควรแก่การส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในมิติศาสนาและวัฒนธรรม กรมการศาสนาจึงร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปางกำหนดเปิดเส้นทางสักการะพระธาตุนครลำปาง โดยเส้นทางดังกล่าวประกอบด้วยวัดสำคัญต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง ได้แก่ (1) วัดพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีฉลู (2) วัดพระธาตุจอมปิง ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี (3) วัดพระธาตุเสด็จ เชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (4) วัดศรีล้อม ซึ่งมีศาลเจ้าพ่อมหายักษ์สามพันตนที่ประชาชนให้ความเชื่อถือในการขอพร ขอโชคลาภ (5) วัดปงสนุก ศูนย์กลางของนครลำปางในอดีต เป็นสถานที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองเสาแรกของลำปาง (6) วัดไหล่หินหลวง ซึ่งเป็นโบราณสถานและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ (7) วัดพระธาตุดอยพระฌาน เป็นศาสนสถานที่มีทัศนียภาพที่สวยงามและนกท่องเที่ยวนิยมมาชมทะเลหมอกในช่วงฤดูหนาว และ (8) วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระอารามหลวง เป็นสถานที่ประดิษฐานพระเจดีย์ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า การเปิดเส้นทางสักการะพระธาตุนครลำปางในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว และนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ผ่านการนำทุนทางศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อความศรัทธามาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อมโยงกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงศาสนา เทศกาลประเพณี รวมถึงส่งเสริมการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ในแหล่งชุมชน เสริมสร้างทักษะของมัคคุเทศก์นำเที่ยวหรือนักเล่าเรื่องท้องถิ่นที่มีความสามารถในการนำเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและจิตวิญญาณ (Spiritual Tourism) ซึ่งส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของประเทศ ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรมจึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ร่วมสักการะพระธาตุในเส้นทาง “สักการะพระธาตุนครลำปาง” เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตต่อไป ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง โทร. 054 228 763 หรือสายด่วนวัฒนธรรม 1765