“พลอย ธนิกุล” ชวนเที่ยวตำนาน “ตาม่องล่าย” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ ณ ชุมชนหัวบ้าน (ถนนสู้ศึก) ประจวบคีรีขันธ์ 

วันที่ 24 พฤษภาคม 2568 นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดชุมชนหัวบ้าน (ถนนสู้ศึก) 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายปรีดา สุขใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางสาวบุญนำ กลิ่นนิรันดร์ ประธานชุมชนหัวบ้าน นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม ณ บริเวณศาลเจ้าเล่าปุงเท้ากงม่าประจวบ ชุมชนหัวบ้าน (ถนนสู้ศึก) อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายในงานมีกิจกรรม ประกอบด้วย ฉายวีดิทัศน์แนะนำชุมชนคุณธรรมหัวบ้าน โชว์การแสดงศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ การแสดงตำนานลูกเสือบุญยิ่ง และคีตมวยไทย การสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตลาดวัฒนธรรม กิจกรรมศิลปะร่วมสมัย (Art & Music) และกิจกรรมสร้างสรรค์

นอกจากนี้ ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมและคณะ ร่วมกิจกรรมตักบาตรเช้าวันอาทิตย์ถนนสายวัฒนธรรมสู้ศึก เสน่ห์อัตลักษณ์อบอุ่นของชุมชน ถวายจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำรับพร และตักบาตร โดยมีชาวชุมชนหัวบ้าน (ถนนสู้ศึก) ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ๆ ในชุมชน อาทิ พิพิธภัณฑ์ชุมชนถนนสู้ศึก “บ้านจารย์ไก่” สตรีทอาร์ต ย่านเก่าชุมชนหัวบ้าน และหอศิลป์บ้านคุณยาย สัมผัสอัตลักษณ์ชุมชนอย่างใกล้ชิด แวะสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลแห่งแรกของเมืองประจวบฯ ที่ชาวชุมชนหัวบ้านให้ความเคารพนับถือ และเยี่ยมชมหอศิลป์บ้านศิลปินหัวหินอีกด้วย

นางสาวพลอย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีแก่ชุมชนหัวบ้าน (ถนนสู้ศึก) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมชนที่ประจักษ์พร้อมด้วยศักยภาพและความเข้มแข็งของคนในชุมชน วัด โรงเรียน ทำให้ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี ๒๕๖๗ ของ วธ. ชุมชนมีการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม สอดคล้องนโยบาย วธ. ที่มุ่งนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาต่อยอด สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ อีกทั้งคนในชุมชนมีความรักความสามัคคี ร่วมกันอนุรักษ์สืบสาน รักษา และต่อยอดวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้ได้อย่างดียิ่ง มีความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานอันยิ่งใหญ่ ร่วมแรง ร่วมใจ ผลักดัน ขับเคลื่อนงานท่องเที่ยวชุมชน ยลวิถี ได้สำเร็จ เป็นที่ยอมรับ และเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทย

นางสาวพลอย กล่าวอีกว่า ชุมชนหัวบ้าน เป็นชุมชนชาวประมงที่ดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิม เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ที่รักษาความเป็นธรรมชาติและความสงบในบรรยากาศที่น่าหลงใหล มีเรื่องเล่าเป็นตำนานเรื่องตาม่องล่าย ซึ่งเป็นตำนานพื้นบ้านของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการสอดแทรกเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวประมง ไว้เพื่อเล่าสู่กันฟังยามพักผ่อน ในช่วงมรสุมที่ออกเรือหาปลาไม่ได้ ซึ่งตำนาน “ตาม่องล่าย” ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2555 มีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวน่าสนใจหลากหลาย อาทิ สักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นศาลแห่งแรกของเมืองประจวบฯ ที่ชาวชุมชนหัวบ้านให้ความเคารพนับถือ สักการะศาลเจ้าเล่าปุงเท้ากงม่าประจวบ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประเพณีทำบุญกลางอ่าว เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนถนนสู้ศึก “บ้านจารย์ไก่” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเรื่องราวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและเกิดการสู้รับกันระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่น ชมสตรีทอาทถนนสู้ศึก ภาพสามมิติซึ่งแสดงอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีวิถีชีวิตและ
ความเป็นอยู่ของชุมชน เยี่ยมชมร้านคาเฟ่และหอศิลป์บ้านคุณยาย ศรีเสนาะคาเฟ่ สไตล์บ้านเก่าซึ่งมีสถาปัตยกรรมสวยงามแบบโบราณ ร่วมกิจกรรมพายเรือคายัค และซับบอร์ดบริเวณอ่าวประจวบ กิจกรรมตกปลา ตกหมึกในเวลากลางคืนบริเวณอ่าวประจวบ กิจกรรมเดินขึ้นเขาช่องกระจก 396 ขั้น เพื่อชมวิวอ่าวประจวบ กิจกรรมเดินชิว ชิม ช็อป ถนนคนเดินติดทะเลที่ยาวที่สุดในประเทศ ริมอ่าวประจวบยามเย็นจนย่ำค่ำ ทุกวันศุกร์-เสาร์ เป็นต้น เช้าวันอาทิตย์ร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตรถนนสายวัฒนธรรมสู้ศึก และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน

นางสาวพลอย กล่าวต่อไปว่า ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อจากชุมชนหัวบ้าน ได้แก่ อาหารทะเลสด ๆ เช่น กุ้ง หอย ปู และปลาที่จับได้จากทะเล รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลาอินทรีเค็ม หมึกแห้ง ชุมชนมีสำรับชุมชนรองรับนักท่องเที่ยว ที่เน้นการใช้วัตถุดิบในชุมชน ได้แก่ ข้าวผัดปลาอินทรีย์เค็มคลุกเคล้าสัปปะรด หอยทอดผัดไทยโบราณของป้าบุญล้อม การปรุงชาใบชะครามโดยใช้วัตถุดิบจากต้นชะครามที่มีมากในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีโรงแรม ที่พัก ค่าเฟ่ ที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนอย่างใกล้ชิดอีกด้วย