“พาณิชย์” เร่งช่วยเกษตรกรกระเทียมแม่ฮ่องสอน ดูดซับผลผลิต 100 ตันผ่านธงฟ้า พร้อมดึงโรงงาน-ผู้ประกอบการเข้าซื้อในพื้นที่ แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างเร่งด่วน หลังประสบปัญหาราคาตกต่ำในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้ โดยการดูดซับผลผลิตเข้าสู่ตลาด การเปิดช่องทางการจำหน่ายใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงตลาดกับหน่วยงานและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน กรมฯ ได้จัดสรรพื้นที่จำหน่ายกระเทียมกว่า 100 ตัน ผ่าน โครงการธงฟ้าราคาประหยัด ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมถึงผ่าน รถโมบายธงฟ้า ที่จะออกให้บริการถึงชุมชน เพื่อกระจายผลผลิตจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภคในราคายุติธรรม ช่วยดูดซับปริมาณกระเทียมที่ล้นตลาด พร้อมลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

นอกจากการเปิดช่องทางการจำหน่ายแล้ว กรมการค้าภายในยังได้ เชื่อมโยงให้โรงงานแปรรูปและผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร เข้ามารับซื้อกระเทียมจากเกษตรกรในพื้นที่แม่ฮ่องสอนโดยตรง โดยมีการเจรจาและประสานผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการขยายตลาดให้กระเทียมไทยมีโอกาสเข้าไปเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาตลาดค้าส่งเพียงอย่างเดียว

“นอกจากเชื่อมโยงการจำหน่ายไปยังตลาดปลายทาง เรายังมุ่งให้เกิด ‘การซื้อขายภายในพื้นที่’ มากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านขนส่งให้เกษตรกร และสร้างความยั่งยืนในระบบการตลาดกระเทียมในระยะยาว” นายวิทยากรกล่าว

ในด้านของการสนับสนุนต้นทุนการจำหน่าย กรมการค้าภายในยังได้ร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดทำโครงการสนับสนุนกล่องบรรจุภัณฑ์ราคาพิเศษ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายกระเทียมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ลดภาระค่าขนส่ง เพิ่มความสะดวกในการจัดส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง

ขณะเดียวกัน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์กระเทียมของจังหวัด ครั้งที่ 2/2568 เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด ธ.ก.ส. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ร่วมกันวางแนวทางการรวบรวมข้อมูลราคาขายจากเกษตรกรโดยตรง รวมถึงการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้บริโภคให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใส มีการจัดระบบรองรับคำสั่งซื้อจากจังหวัดปลายทาง โดยกลไกของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะเป็นผู้ประสานข้อมูลและแจ้งกลับไปยังกลุ่มเกษตรกร เพื่อดำเนินการจัดส่งสินค้าได้ทันที เป็นการสร้างระบบจัดการตลาดที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้เกิด “ตลาดกระเทียมชุมชน” ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำกระเทียมไปจำหน่ายโดยตรงสู่ผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น

“กรมการค้าภายในจะยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดกระเทียมอย่างใกล้ชิด และไม่หยุดอยู่เพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น แต่จะดำเนินการวางรากฐานระบบตลาดอย่างยั่งยืน เพื่อให้ราคากระเทียมมีเสถียรภาพในระยะยาว” นายวิทยากร กล่าว

ทั้งนี้ กรมฯ ยืนยันว่าจะเดินหน้าเชื่อมโยงตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมเสริมสร้างความรู้ด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับเกษตรกรควบคู่กันไป