วธ. คิกออฟ ออนทัวร์สู่สถานศึกษา 4 ภูมิภาคทั่วไทย “ขับเคลื่อนวัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจร” ปี 3 ขยายเครือข่ายสู่เด็กเยาวชนกว่า 800 คน เดินหน้าสร้างสังคมรู้ทันสื่อยุคดิจิทัลด้วยพลังวัฒนธรรม 

นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมขับเคลื่อนวัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจร 4 ภูมิภาคปีที่ 3 ณ โรงเรียนนครนายกวิทยาคม อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก โดยมี นายบรรจง มงคลยง ประธานสภาวัฒนธรรมจ้งหวัดนครนายก นายราเมศ ลิ่มสกุล วัฒนธรรมจังหวัดนครนายก นางสาวสุกัญญา เพาะบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนนครนายกวิทยาคม หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ เด็กและเยาวชน และเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ในสถานศึกษา – นอกสถานศึกษา เข้าร่วม

นางโชติกา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างสังคมเข้มแข็งและสนับสนุนเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน วธ. โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม
ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการสนับสนุน เสริมพลังสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน โดยใช้มิติทางวัฒนธรรม
และได้จัดกิจกรรมขับเคลื่อนวัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจรอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ ๓ ซึ่งวธ.บูรณาการร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษา – นอกสถานศึกษา ภาคเอกชน สถานศึกษา และภาคประชาชน

“เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังค่านิยม วัฒนธรรม คุณธรรมและจริยธรรม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน เกี่ยวกับการเป็นพลเมืองที่ดีในยุคดิจิทัล เสริมสร้างทักษะ
การวิเคราะห์สื่อ รู้จักใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ และร่วมกันเป็นพลังสำคัญในการดูแลชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนขยายเครือข่ายเด็ก เยาวชน เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในและนอกสถานศึกษา พร้อมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมผ่านมิติทางวัฒนธรรม และการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล คาดว่าจะมีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 800 คนทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาและขยายเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และสร้างบุคลากรแกนนำเยาวชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในมิติวัฒนธรรม” นางโชติกา กล่าว

นางโชติกา กล่าวเพิ่มเติมว่า เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมขับเคลื่อนวัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจรจะได้รับความรู้ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) 
ที่มีชื่อเสียงในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (Social Media) ซึ่งจะมาให้ความรู้และคำแนะนำในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนยังได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อสร้างการรู้เท่าทันสื่อและการใช้สื่อเพื่อสร้างสรรค์สังคม ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเป็นเครือข่ายเยาวชนเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นำไปสู่การขยายเครือข่ายการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและมีภูมิคุ้มกันในยุคสื่อดิจิทัลต่อไป