เอ็นไอเอเร่งโต “อาหารพื้นถิ่น ผลไม้มูลค่าสูง อาหารแห่งอนาคต” ตอกย้ำไทยครัวโลก เปิดโปรแกรม “Thai Kitchen 2025” ปั้น 3 กลุ่มนวัตกรรมอาหารรับมูลค่า อุตฯอาหารไทย 4 ล้านล้าน

กรุงเทพฯ 22 พฤษภาคม 2568 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เฟ้นหาผู้ประกอบการนวัตกรรมอาหารทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการ “Thai Kitchen 2025: Crafted FoodTech Accelerator Program” เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจนวัตกรรมอาหารใน 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารพื้นถิ่นมูลค่าสูง อาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูง และอาหารแห่งอนาคต พร้อมเร่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านกิจกรรมอบรมแบบลงมือปฏิบัติจริง และการจับคู่ธุรกิจเชิงกลยุทธ์กับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ ภายใต้แผนงานโครงการมุ่งเป้า: ธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหาร ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเป็น ‘ครัวของโลก’ และโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารไทยที่กำลังขยายตัวอย่างมหาศาล โดยในปี 2566 มูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอาหารสูงถึง 4 ล้านล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมโครงการยังมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน และเงินสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสูงสุดถึง 5 ล้านบาท

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหาร เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานที่สำคัญของ NIA เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศในการเป็น “ครัวของโลก” และเป็นแผนงาน “โครงการมุ่งเป้า: ธุรกิจนวัตกรรมด้านอาหาร” ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทย ผ่านการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ และแนวโน้มการเติบโตในตลาดโลก ทั้งนี้ ในปี 2566 อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีมูลค่ารวมสูงถึง 4 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นมูลค่าที่เกี่ยวช้องกับการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร และธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศ จำนวน 1.55 ล้านล้านบาท ส่วนในประเทศมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทยกว่า 25 ล้านคน ทั้งที่เป็นแรงงานด้านเกษตร โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ร้านค้าปลีก ฟู้ดเซอร์วิส ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงผู้ค้ารายย่อย และอาหารริมทาง หรือสตรีทฟู้ด ซึ่งมูลค่าการเติบโตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก

ดังนั้น NIA จึงได้ริเริ่มโครงการ “Thai Kitchen : Crafted FoodTech Accelerator Program” ที่มุ่งเน้นจุดต่างในการสร้างตลาดให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ 1. อาหารพื้นถิ่นมูลค่าสูง (Modern Heirloom) 2. อาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูง (High-Value Thai Food & Fruits) และ 3. อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ผ่านการเร่งสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารไทยที่มีของดีเป็นอัตลักษณ์ มีเทคโนโลยีอาหารที่พัฒนาขึ้นมาเองหรือมีงานวิจัยพื้นฐานรองรับ ด้วยการวิเคราะห์กลยุทธ์การตลาดแบบตรงจุด ให้สามารถเพิ่มยอดขายอย่างก้าวกระโดด และเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจออกสู่ตลาดสากล ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Bootcamp Intensive) โดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของวงการ ทั้งด้านนวัตกรรมอาหาร เทคโนโลยีการผลิต การตลาด และการส่งออก ร่วมกับการให้คำปรึกษาแบบเฉพาะเจาะจง (Tailor-made Mentoring) จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำของประเทศ เช่น ทิปโก้ฟูดส์ ไทยเบฟเวอเรจ บัตเตอร์ฟลายออร์แกนิค ไมเนอร์ฟู้ด ยูนิลีเวอร์ รวมถึงการพัฒนาแบรนด์และสื่อสารคุณค่าของผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางสื่อดิจิทัลที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน พร้อมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ซื้อ นักลงทุน และเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน และเงินสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสูงสุดถึง 5 ล้านบาท

“Thai Kitchen 2025 คือเวทีสำคัญในการส่งเสริมและขับเคลื่อนผู้ประกอบการนวัตกรรมอาหารของไทย ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี สตาร์ตอัป หรือธุรกิจเพื่อสังคม ให้สามารถใช้นวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ไปจนถึงการเข้าถึงแหล่งทุน โครงการนี้ไม่เพียงช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมอาหารของโลกอย่างแท้จริง จึงขอเชิญชวนเข้าร่วมเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของธุรกิจนวัตกรรมอาหารไทยสู่ความมั่นคง แข็งแกร่ง และยั่งยืน” ดร.กริชผกา กล่าวสรุป

ทั้งนี้ Thai Kitchen 2025: Crafted FoodTech Accelerator Program จะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการนวัตกรรมอาหารของไทยที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการพร้อมขยายตลาดสู่การเติบโต ตั้งแต่วันนี้จนถึง 25 พฤษภาคม 2568 ที่ QR Code และ https://www.nia.or.th/event/detail/17884 หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม คุณมณฑา โทร. 081-372 9163 อีเมล montha@nia.or.th