วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ทส. ลงพื้นที่ตรวจติดตามแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา เยี่ยมชมนิทรรศการ และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในทะเลสาบ โดยมีนายเผด็จ ลายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคณะผู้บริหารกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เข้าร่วมและรายงานข้อมูลในพื้นที่ และมีนายธราวุธ ช่วยเกิด รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวต้อนรับ ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จังหวัดพัทลุง
ในโอกาสเดียวกันนี้ รมว.ทส. ได้เดินทางไปจุดก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสะพาน โครงการสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านคมนาคมและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประสานการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาโดยเฉพาะโลมาอิรวดี
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า “โลมาอิรวดี“ เป็นโลมาน้ำจืด 1 ใน 5 ของโลก ในประเทศไทยถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบสงขลาที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่ง IUCN Red List of Threatened Species ได้ประเมินสถานภาพประชากรโลมาอิรวดีทั่วโลกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ที่มีแนวโน้มประชากรลดลง โดยกลุ่มประชากรของโลมาอิรวดีที่อาศัยในน้ำจืด มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ ดังนั้น เพื่อฟื้นฟูประชากรโลมาอิรวดีในระยะยาว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้จัดทำ “แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา” (พ.ศ. 2567–2576) เพื่อลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีและถิ่นอาศัย ศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยา พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรของโลมาอิรวดี ฟื้นฟูความสมบูรณ์และเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กล่าวถึงภัยคุกคามหลักที่ทำให้ประชากรโลมาอิรวดีลดลงจนถึงขั้นวิกฤต โดยสาเหตุหลักของการเกยตื้น มาจากเครื่องมือประมง คิดเป็น 68.6% ที่เหลือเป็นภัยคุกคามจากมลพิษทางน้ำ การตื้นเขินของทะเลสาบ และจำนวนสัตว์น้ำที่เป็นอาหารลดลง ซึ่งที่ผ่านมากรมทะเลได้ติดตามสถานภาพของโลมาอิรวดีมาอย่างต่อเนื่อง มีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีบริเวณทะเลสาบสงขลา ห้ามใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดี และจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดําเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ระยะทางประมาณ 7 กม. เพื่อเชื่อมพื้นที่ระหว่าง ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา และพื้นที่ ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง รมว.ทส. ได้กำชับให้กรมทะเลดำเนินการร่วมกับกระทรวงคมนาคมอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำในทะเลสาบ รวมถึงเดินหน้าขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาอย่างจริงจัง เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมรักษา “โลมาอิรวดี ลมหายใจสุดท้ายในผืนน้ำทะเลสาบสงขลา” ให้คงอยู่ต่อไป