นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง กรมการค้าภายใน กับ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบรนด์ “เต่าบิน” ในการรับซื้อผลไม้สดจากเกษตรกรจำนวน 1,000 ตัน เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเมนูผลไม้ปั่น พร้อมวางจำหน่ายผ่าน “ตู้เต่าปั่น” เริ่มนำร่องเดือนมิถุนายนนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนขยายจำหน่ายเมนูน้ำผลไม้ทั่วประเทศผ่าน “ตู้เต่าบิน” กว่า 7,500 ตู้ในเดือนกรกฎาคม เพื่อเพิ่มช่องทางตลาดและช่วยเหลือเกษตรกรในการระบายผลผลิตผลไม้ตามฤดูกาล
โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้นโยบายของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตรและเพิ่มศักยภาพช่องทางการตลาดของเกษตรกรไทย โดยมี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ผลักดันหลัก และมอบหมายให้กรมการค้าภายในดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ในครั้งนี้ จะเป็นการเชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรไทยกับเทคโนโลยีการขายสมัยใหม่ ผ่าน “ตู้เต่าปั่น” และ “ตู้เต่าบิน” ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำผลไม้อัตโนมัติแบบปั่นสด (Smoothie) ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง
ผลไม้ที่รับซื้อจากเกษตรกรภายใต้โครงการนี้ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ลำไย สับปะรดภูแล ลิ้นจี่ ลองกอง กล้วยหอมทอง และฝรั่งชมพู รวมเป้าหมาย 1,000 ตัน ซึ่งจะถูกนำมาพัฒนาเป็นเมนูเครื่องดื่มหลากหลาย เช่น มะม่วงสมูทที มะม่วงมัทฉะ มะม่วงนมฮอกไกโด มะม่วงลิ้นจี่ มะม่วงชาไต้หวัน และมะม่วงสตรอเบอรี่ ในราคาจำหน่าย 65 บาท พร้อมจัดโปรโมชั่นพิเศษ “ซื้อ 1 แถม 1” เพื่อกระตุ้นการบริโภคและดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคใหม่
ในเดือนกรกฎาคม 2568 โครงการจะขยายไปสู่เฟสถัดไป โดยนำเมนูผลไม้ตามฤดูกาลอื่น ๆ มาจำหน่ายผ่าน “ตู้เต่าบิน” ที่มีการติดตั้งกว่า 7,500 จุดทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายและช่วยกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ กรมการค้าภายในยังให้การสนับสนุนค่าบริหารจัดการ เพื่อช่วยลดภาระของภาคเอกชน และส่งเสริมความยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย
“กรมการค้าภายในขอขอบคุณบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด และพันธมิตรห้างค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล บิ๊กซี และโลตัส ที่สนับสนุนพื้นที่วางตู้เต่าปั่นและเต่าบิน เพื่อส่งเสริมการบริโภคน้ำผลไม้ปั่นคุณภาพดีในราคาย่อมเยา และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยในช่วงฤดูผลผลิต” นายวิทยากรกล่าว
สำหรับผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น พบว่าราคามะม่วงน้ำดอกไม้ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดพิจิตร และพิษณุโลก มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ภาคเอกชนเข้ามารับซื้ออย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น และสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาตลอดฤดูผลิตปีนี้ได้อย่างมั่นคง