รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร สุรินทร์ เดินหน้าโครงการบริการทุกช่วงวัยด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข “อสม.มั่นคง สาธารณสุขเข้มแข็ง เพื่อคนไทยห่างไกล NCDs” จัด 11 คลินิกบริการ เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น ลดระยะเวลารอคอย มุ่งเน้นจัดการปัญหาโรค NCDs อย่างยั่งยืน ภาพรวมทั่วประเทศมีคนนับคาร์บได้แล้วกว่า 29 ล้านคน ขณะที่ “อุบลราชธานี” รุกรณรงค์ประชาชน ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกาย พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังพระสงฆ์ 70 วัด 70 อำเภอ
วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เภสัชกรวีระชัย นลวชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 10 เปิดโครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข “อสม.มั่นคง สาธารณสุขเข้มแข็ง เพื่อคนไทยห่างไกล NCDs” จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และ อสม. เข้าร่วมกว่า 1,500 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนทุกมิติ ทั้งการคัดกรอง ป้องกัน ค้นหา และการดูแลรักษา ยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เป็นปัญหาสำคัญของประชาชน ซึ่งโครงการบริการทุกช่วงวัยฯ เป็นการบูรณาการงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเครือข่ายภาคประชาชน (อสม.) เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ผ่าน 10 คลินิกหลัก ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลารอคอยการบริการ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยตั้งเป้าจะมีประชาชนทั่วประเทศเข้ารับบริการรวมกว่า 38 ล้านราย คาดว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลในอนาคตได้กว่า 4,000 ล้านบาท โดยจากการดำเนินโครงการ 4 ครั้งที่ผ่านมา มีประชาชนได้รับบริการแล้ว 14,171 ราย
ด้านเภสัชกรวีระชัย กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs พบว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของเขตสุขภาพที่ 10 จึงได้กำหนดมาตรการเชิงรุกรณรงค์ให้ประชาชนลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกาย รวมถึงขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังพระสงฆ์ โดยถวายความรู้ในการเลือกฉันอาหาร เป้าหมาย 70 วัด 70 อำเภอ และย้ำเตือนผ่านข้อความบนตาลปัตร เช่น “เค็มไม่ดี” “หนีไขมัน” “หนีห่างหวาน” “นับคาร์บก่อนบริโภค” นอกจากนี้ ยังพบโรคพยาธิใบไม้ในตับ มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งตับ จากการรับประทานปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดแบบดิบ ซึ่งได้แก้ปัญหาด้วยการลงพื้นที่หาจุดเสี่ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ กำหนดจุดหน่วยคัดกรองเลือด อุจจาระ ผู้ที่มีความเสี่ยง และรณรงค์ให้ประชาชนปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทาน
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ได้จัด 11 คลินิกบริการประชาชน ได้แก่ 1.คลินิกโรคอ้วน 2. คลินิก NCDs 3. คลินิกโรคไต 4.คลินิกโรคหลอดเลือดสมอง/หลอดเลือดหัวใจ 5.คลินิกต้อกระจกและจอประสาทตา 6.คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และบริการฉีดวัคซีน HPV 7.คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 8.คลินิกเครื่องช่วยฟัง 9.คลินิกผ่าตัดนิ้วล็อก 10.คลินิกฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และ 11.คลินิกสมุนไพร ส่วนในวันพรุ่งนี้ (16 พฤษภาคม 2568) เป็นการจัดบริการที่ โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งมีคลินิกให้บริการประชาชน 11 คลินิกเช่นเดียวกัน