ศน. ร่วมพิธีปรุงข้าวมธุปายาส สองแผ่นดิน สืบสานวัฒนธรรมข้าว สองสายพันธุ์ ไทย-อินเดีย และพหุวัฒนธรรม พราหมณ์-พุทธ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 73 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

นายธีทัต พิมพา รองอธิบดีกรมการศาสนา ผู้แทนอธิบดีกรมการศาสนา เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.00 น. (ที่ผ่านมา) กรมการศาสนา ร่วมกับมูลนิธิขวัญข้าว มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ และภาคีเครือข่าย จัดพิธีปรุงข้าวมธุปายาส สองแผ่นดิน สืบสานวัฒนธรรมข้าว สองสายพันธุ์ ไทย-อินเดีย และพหุวัฒนธรรม พราหมณ์-พุทธ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 73 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ มูลนิธิขวัญข้าว อำเภอเมืองสุพรรณบุรี โดยภายในงานจัดกิจกรรม พิธีบรวงสรวงบูชาพระแม่โพสพ เทวีแห่งข้าว พิธีปรุงข้าวมธุปายาส สองแผ่นดิน พิธีฉลองสมโภช “ข้าวมธุปายาส สองแผ่นดิน” และการเสวนาหัวข้อ “ข้าวมธุปายาส : โภชนาการแห่งการฟื้นฟูกำลังอินทรีย์ให้แกร่งกล้า”

นายธีทัต พิมพา รองอธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 73 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และแสดงความกตัญญุตาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกทุกศาสนาในประเทศไทยโดยได้หยิบยกแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาสร้างสรรค์เป็น “ข้าวเพื่อชีวิต” ที่ไม่เพียงหล่อเลี้ยงร่างกาย หากยังบ่มเพาะคุณค่าแห่งจิตใจ และเปิดพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิม ผ่านวิถีของเกษตรกรรมยั่งยืน ศีลธรรม ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งความร่วมมือระหว่างสองแผ่นดินในครั้งนี้ มิได้เป็นเพียงพิธีกรรมหรือกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ หากเป็น “การต่อสายใยแห่งศรัทธา” และ “การประสานพลังสร้างสรรค์” ระหว่างประชาชน นักบวช ปราชญ์พื้นบ้าน นักวิชาการ และหน่วยงานจากทั้งอินเดียและไทยที่พร้อมเดินร่วมทางกันเพื่อสังคมที่สมดุล และเปี่ยมด้วยเมตตา ทั้งนี้ การปรุงข้าวมธุปายาสในสมัยปัจจุบันยังคงอิงหลักจากตำรับโบราณ แต่มีการปรับให้เหมาะสมกับวัตถุดิบ และความนิยมของผู้บริโภคมากขึ้น โดยสูตรการปรุงข้าวมธุปายาสแบบไทยประยุกต์ มีวัตถุดิบหลักประกอบด้วยข้าวหอมมะลิ กะทิ น้ำตาลปี๊บ ถั่ว ลูกเดือย และงา บางสูตรจะใส่ผลไม้อบแห้งลงไปผสมด้วย ส่วนแบบอินเดีย มีวัตถุดิบหลักประกอบด้วย ข้าวบาสมาติ น้ำนมวัว น้ำผึ้ง และผสมเครื่องเทศบางชนิดพิธีกรรมการหุงข้าวมธุปายาส จะสามารถนำไปต่อยอดสู่การประกอบอาหารได้อย่างถูกต้องตามหลักวัฒนธรรมดั้งเดิม

นายธีทัต พิมพา รองอธิบดีกรมการศาสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้าวมธุปายาส เป็นเรื่องราวของภัตตาหารมื้อแรกก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ ได้รับการถวายโดยพระนางสุชาดาเป็นที่มาของภัตตาหารที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อพระพุทธศาสนา หากไม่มีการถวายภัตตาหาร คือ ข้าวมธุปายาส มหาบุรุษผู้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยามาเป็นเวลาร่วม 6 ปี จนพระวรกายซูบผอมหมดเรี่ยวแรงก็ไม่สามารถฟื้นกำลังพระวรกายและมีอินทรีย์แก่กล้าจนสามารถบรรลุธรรมตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้

ปัจจุบันพระพุทธศาสนิกชนไทยในภูมิภาคต่างๆ พยายามรักษาประเพณีและวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าวมธุปายาสให้ดำรงคงอยู่คู่พระพุทธศาสนา ผ่านพิธีกรรมการกวนข้าวทิพย์หรือหุงข้าวมธุปายาส ซึ่งจะจัดขึ้นในวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชาและวันเข้าพรรษา เป็นต้น ทั้งนี้ สูตรและตำรารวมถึงวิธีการหุงข้าวมธุปายาสของแต่ละท้องถิ่น จะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับวัตถุดิบและส่วนประกอบที่สามารถจัดหาได้ในแต่ละท้องถิ่น