รฟท. ให้การต้อนรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น (MLIT) พร้อมเยี่ยมชมโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น

นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พร้อมคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ Mr. Nakano Hiromas รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น (MLIT) และคณะ ในโอกาสเยี่ยมชมพื้นที่ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) และทดลองโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) และคณะ เดินทางเข้าเยี่ยมชมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ศูนย์กลางระบบรางของประเทศไทย และเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เชื่อมต่อระบบรางทุกรูปแบบทั้งรถไฟฟ้ามหานคร รถไฟทางไกล รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) และรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับระบการเดินทางรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ได้อย่างสะดวก ด้วยพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวางและมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 600,000 คน-เที่ยว/วัน ออกแบบโดยยึดหลัก “อารยสถาปัตย์” (Universal Design) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ให้ใช้บริการอย่างปลอดภัย ทั่วถึง และเท่าเทียม

นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) ของรถไฟฟ้าสายสีแดง และทดลองโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังสถานีจตุจักร ซึ่งรถไฟชานเมืองสายสีแดง หรือ Commuter Train เป็นรูปแบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่เน้นการขนส่งผู้โดยสารระหว่างย่านใจกลางเมืองกับพื้นที่ชานเมือง มีแนวเส้นทางและระยะห่างระหว่างสถานีมากกว่ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมืองสายอื่น ๆ ดำเนินการก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย เชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองโดยรอบ ทั้ง 4 ทิศ ในแนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยมีศูนย์กลางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และพร้อมเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทุกสายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางไปยังทุกพื้นที่ได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้ง ยังเป็นการปรับปรุงขีดความสามารถในการเดินทางด้วยรถไฟภายในเมือง ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น (MLIT) ได้เดินทางไปร่วมประชุมทวิภาคีและร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางและพัฒนาเมืองระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น ถือเป็นการปรับปรุงบันทึกความร่วมมือเดิมที่ได้ลงนามไว้ เมื่อเดือนธันวาคม 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความเข้าใจร่วมกันในนโยบาย กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับด้านระบบรางและการพัฒนาเมืองของทั้งสองประเทศ การดำเนินการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP 2) การพัฒนาระบบรางในเขตเมือง โครงการรถไฟความเร็วสูง การขนส่งสินค้าทางรถไฟ แนวทางการเตรียมการรับมือต่อภัยพิบัติ มาตรการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางความร่วมมือด้านคมนาคมในโครงการสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะในระบบราง อาทิ การสนับสนุนการดำเนินการและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD)  รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระบบราง ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในอนาคต เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้น