สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 พ.ค. 68 เวลา 7.00 น.

1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.น่าน (106 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ศรีสะเกษ (99 มม.) ภาคกลาง : จ.กรุงเทพมหานคร (46 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (87 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (43 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (93 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน เนื่องจากมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน สำหรับภาคใต้ เนื่องจากคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ : ในช่วงวันที่ 4 – 8 พ.ค. 68 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร.ปริมณฑล และภาคตะวันออก โดยจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในภาคเหนือ และภาคตะวันเฉียงเหนือ เนื่องจากความกดอากาศต่ำจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน

2. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก : น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร
แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน

3. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (45,594 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 37% (21,382 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด จำนวน 1 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : อ่างเก็บน้ำแม่จาง
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (2 พ.ค. 68).ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 5/2568 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่อิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ฝน ONE MAP ทั้งประเทศในช่วงฤดูฝน (พ.ค.–ก.ย. 68) เพื่อเตรียมการป้องกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดผลกระทบจากอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน รวมทั้งมีการพิจารณาแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำค่อนข้างมากและมีแนวโน้มว่าในช่วงฤดูฝนนี้จะมีปริมาณน้ำมาก จึงร่วมหารือแนวทางการปรับแผนการระบายน้ำ โดยบริหารจัดการน้ำเป็นกลุ่มลุ่มน้ำและรายลุ่มน้ำเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งคณะอนุกรรมการอำนวยการฯ จะพิจารณาการปรับแผนการระบายน้ำ และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ช่วงต้นฤดูแล้งยังคงมีปริมาณน้ำเก็บกักไว้ให้มากที่สุด และลดผลกระทบจากอุทกภัยให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยงในช่วงฤดูฝนให้มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำสาละวิน และเห็นชอบในหลักการการอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในการประชุมวันที่ 26 พ.ค. 68 ต่อไป