เจ้าคณะจังหวัดลำปางและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิด “โครงการขับเคลื่อนพระสงฆ์ปลอดโรค NCDs สุขภาพดีทั่วไทย” ภาคเหนือ ณ จังหวัดลำปาง มุ่งส่งเสริมพระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม ลดการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ครอบคลุม รวดเร็ว ตั้งเป้าถวายการตรวจคัดกรองโรค NCDs และระบุพิกัดการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ทั่วประเทศให้ได้ร้อยละ 80 พร้อมเปิดโครงการ “รักษ์ไต ล้านนา R1” ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพผู้ป่วยโรคไต ลดป่วย ลดตาย ลดภาระงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ
วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จังหวัดลำปาง พระจินดารัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง เจ้าอาวาสวัดพระแก้วดอนเต้า สุชาดาราม พระอารามหลวง ประธานฝ่ายสงฆ์ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานฝ่ายฆราวาส เปิดโครงการขับเคลื่อนพระสงฆ์ปลอดโรค NCDs สุขภาพดีทั่วไทย ภาคเหนือ ณ จังหวัดลำปาง โดยมี นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 คณะสงฆ์ ผู้บริหาร ประชาชน และภาคีเครือข่ายสุขภาพ เข้าร่วมกว่า 1,500 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันพระสงฆ์ไทยเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs จำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ โดยในปีงบประมาณ 2568 นี้ ได้จัดโครงการขับเคลื่อนพระสงฆ์ปลอดโรค NCDs สุขภาพดีทั่วไทย ตั้งเป้าหมายถวายการตรวจคัดกรองโรค NCDs และระบุพิกัดการเจ็บป่วยโรค NCDs ของพระสงฆ์ให้ได้ ร้อยละ 80 ของจำนวนพระสงฆ์ทั่วประเทศ เพื่อให้พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม ลดการป่วยด้วยโรค NCDs และพระสงฆ์ที่เจ็บป่วยเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ครอบคลุม รวดเร็ว และมีคุณภาพ ซึ่งการจัดกิจกรรมพื้นที่ภาคเหนือในวันนี้ ประกอบด้วย การตรวจสุขภาพและการถวายความรู้พระสงฆ์ การส่งเสริมป้องกันโรค NCDs และการนับคาร์บ การถวายชุดตาลปัตรพระคิลานุปัฏฐากรอบรู้สุขภาพ ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เขตสุขภาพที่ 1, 2, 3 การแสดงนิทรรศการของกรมวิชาการ สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดในภาคเหนือ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังได้เปิดโครงการ “รักษ์ไต ล้านนา R1” ซึ่งมุ่งดูแลโรคไตเรื้อรัง ที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขและเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ โดยคาดว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกระยะประมาณ 10,000,000 คน และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมค่ารักษามากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี สาเหตุหลักมากกว่าครึ่งเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โครงการ “รักษ์ไต ล้านนา R1” จึงมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคไต ให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาตนเอง มีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้และคำแนะนำในเรื่องต่างๆ เช่น อาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา และมีการติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ จุดเด่นของโครงการ คือ การออกแบบให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย ศึกษาด้วยตนเองได้ ซึ่งจากการดำเนินงานในระยะเริ่มต้น พบว่าผู้ป่วยมีการปรับพฤติกรรมสุขภาพไปในทางที่ดีขึ้น จึงมีเป้าหมายที่จะขยายผลไปยังทุกหน่วยบริการสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 1 ต่อไป