สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: FDA) ขยายระยะเวลาในการปฏิบัติตามกฎระเบียบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารฉบับใหม่ออกไปอีก 30 เดือน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารมีระยะเวลาเพียงพอในการนำข้อกำหนดของกฎระเบียบไปปฏิบัติได้อย่างครบถ้วน
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 FDA ได้ประกาศขยายระยะเวลาในการปฏิบัติตามกฎระเบียบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารฉบับใหม่ (Requirements for Additional Traceability Records for Certain Foods ) ออกไปอีก 30 เดือน จากเดิมมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 20 มกราคม 2569 ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวครอบคลุมบัญชีรายชื่อสินค้าอาหารที่กำหนดให้มีการตรวจสอบย้อนกลับ (The Food Traceability List: FTL) ดังนี้
ทั้งนี้ กฎระเบียบข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติปรับปรุงความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety Modernization Act: FSMA) ที่มีบังคับใช้ตั้งแต่ในวันที่ 20 มกราคม 2566 โดยผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการผลิต แปรรูป บรรจุ หรือเก็บรักษาสินค้าอาหาร ร้านค้าปลีก และร้านอาหารที่ครอบครองสินค้าอาหารที่อยู่ในบัญชี FTL ในสหรัฐฯ และต่างประเทศที่ผลิตอาหารสำหรับบริโภคในสหรัฐฯ ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหาร ยกเว้นสถานประกอบการขนาดเล็กบางประเภท เรือประมง และสัตว์น้ำที่มีเปลือกบางชนิด ร้านค้าปลีก และร้านอาหารที่มีขนาดและยอดจำหน่ายตามที่กำหนดในกฎระเบียบ โดยผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้างต้นจะต้องจัดทำรหัสรุ่นสินค้าเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability Lot Code: LTC) แผนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability Plan) บันทึกขั้นตอนสำคัญเพื่อติดตาม (Critical Tracking Events: CTE) และเก็บรักษาบันทึกข้อมูลหรือจัดส่งให้ FDA ตามที่กฎระเบียบกำหนด พร้อมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ วารสารวิชาการ (Peer review) และข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) เพื่อจัดลำดับความเสี่ยงของอาหาร (Risk – Ranking of Foods) ที่จะเกิดอันตราย เช่น ความถี่ของการเกิดการแพร่ระบาด ลักษณะและความรุนแรงของโรค ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปนเปื้อน หรือแนวโน้มที่จุลินทรีย์จะเติบโต เป็นต้น[1]
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า การออกกฎระเบียบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารของสหรัฐฯ มีเป้าหมายเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการบริโภคอาหารและเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอาหารที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคให้สามารถนำออกจากท้องตลาดได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ จากสถิติปี 2567 พบว่า ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไปยังสหรัฐฯ ตามบัญชี FTLหลายรายการ เช่น สัตว์จำพวกกุ้ง (พิกัดอัตราศุลกากร 0306 และ 1605[2]) ไปสหรัฐฯ 11,886 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.10 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด 47,362 ล้านบาท หรือมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกกุ้งของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีการส่งออกสินค้าตามบัญชี FTL ไปสหรัฐฯ จะต้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารที่ FDA กำหนด โดยสามารถศึกษากฎระเบียบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fda.gov ก่อนการเริ่มบังคับใช้ต่อไป
——————————————-
[1] สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (2566) ระเบียบการตรวจสอบย้อนหลับอาหารฉบับใหม่:
ข้อควรรู้ (FDA’s New Traceability Rule: What You Need to Know) สืบค้นข้อมูลที่ https://www.fisheries.go.th/local/file_document/20230314101834_1_file.pdf
[2] อ้างอิงพิกัดอัตราศุลกากรของคณะทำงานบริหารจัดการข้อมูลด้านกุ้งทะเล และข้อมูลสถิติการส่งออกของกรมศุลกากร