สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 พ.ค. 68 เวลา 7.00 น.

1. วันนี้ : ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน และมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในบางแห่ง เนื่องจากแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

ช่วงวันที่ 3 – 6 พ.ค. 68 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกจะเคลื่อนผ่านอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ส่งผลทำให้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนกลางและตอนล่างของภาค

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (45,882 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 38% (21,611 ล้าน ลบ.ม.)

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 14 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่มอก และทับเสลา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคองลำนางรอง และสิรินธร
ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ และกระเสียว
ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล คลองสียัด และนฤบดินทรจินดา

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 97 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 11 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 56 แห่ง
ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง ภาคตะวันตก 10 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง

สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ

3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 68 เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ต้นน้ำบริเวณบ้านโจตาดา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณตลาดสายลมจอย ฝั่งประเทศไทย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการก่อสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราว–กึ่งถาวร ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บริเวณเส้นเขตแดนทางน้ำระหว่างไทย–เมียนมา ด้านชุมชนบ้านหัวฝาย ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปจนถึงสะพานมิตรภาพไทย–เมียนมา ข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันน้ำหลากเข้าสู่ชุมชนฝั่งไทย ทั้งนี้ ก่อนเกิดเหตุ ได้มีการรื้อกระสอบทราย (Big Bag) บางส่วนเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับงานก่อสร้าง ทำให้เกิดช่องทางให้น้ำทะลักเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กรมการทหารช่าง ได้เร่งนำกระสอบทราย (Big Bag) ชุดใหม่เข้าวางในจุดเสี่ยง พร้อม เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือน มิ.ย. 68 เพื่อให้ทันฤดูฝนนี้

นอกจากนี้ สทนช. ยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการขุดลอกแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก รวมระยะทางกว่า 45 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย–เมียนมา โดยฝ่ายไทยรับผิดชอบขุดลอกแม่น้ำรวก และฝ่ายเมียนมารับผิดชอบขุดลอกแม่น้ำสาย ภายใต้งบประมาณรวม 74.8 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 68 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางเดือน มิ.ย. 68

4. การให้ความช่วยเหลือ : สทนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาด้านน้ำ ดังนี้
กรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เร่งดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด ด้วยการทำความสะอาดบ้านเรือนและสถานที่สาธารณะที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเสริมแนวกระสอบทราย (Big Bag) บริเวณตลิ่งแม่น้ำสาย.อ.แม่สาย.จ.เชียงราย
เพื่อป้องกันสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ตลอดจนมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกสำรวจความเสียหาย และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง.พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้รองรับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด