วันที่ 18 เมษายน 2568 นายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. และโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 3/2568 และครั้งที่ 4/2568 ซึ่งมีนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกง อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการพนันออนไลน์ ซึ่งสรุปผลการดำเนินการที่น่าสนใจดังนี้
1. ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 60 รายคดี ทรัพย์สิน 2,373 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,603 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินในคดีสำคัญเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน เกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการพนันออนไลน์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้
– รายคดี นายอานนท์ฯ กับพวก เป็นพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กรณีนี้ คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินไว้แล้วกล่าวกว่า 80 ล้านบาท (ย.62/2567 และจากการสืบสวนขยายผลพบข้อมูลทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 12 รายการ (เช่น เงินสด และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 11 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 67/2568)
– รายคดี นายอดิสรณ์ฯ กับพวก กรณีกลุ่มขบวนการลักลอบลำเลียงขนส่ง
ยาเสพติดจากพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 7 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 90/2568)
– รายคดี นายเฉลิมชัยฯ กับพวก กรณีการหลอกลวง ชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และมีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก พฤติการณ์ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 105 รายการ (เช่น ที่ดิน หุ้น สิทธิเรียกร้องในสัญญาประกันภัย สินทรัพย์ดิจิตอล และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 55/2568)
– รายคดี นางสาวอภิญญาฯ กับพวก กรณีการหลอกลวงให้ลงทุนสินทรัพย์ ดิจิตอลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (Hybrid Scam) หลอกลวงให้ผู้เสียหายลงทุนระยะสั้นเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 242 รายการ (เช่น ห้องชุด ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 62/2568)
– รายคดี บริษัท สปาต้า แอคเคาน์ติ้ง จำกัด โดยนางสาวสุจินันท์ฯ กับพวก กรณีการหลอกลวงเกี่ยวกับการบริการจัดทำบัญชีและชำระภาษี โดยมีขบวนการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินที่ได้จากการหลอกลวง อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) และ (18) ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 9 รายการ (เช่น ยานพาหนะ และที่ดิน) รวมมูลค่าประมาณ 18 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 74/2568)
– รายคดี นางสาวนภษร ฯ กับพวก กรณีเกี่ยวกับการลักทรัพย์นายจ้างอันเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวนกว่า 1,000 รายการ (เช่น เครื่องประดับ สินค้าแบรนด์แนม วัตถุมงคล และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 343 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 80/2568)
– รายคดี กลุ่มบุคคลที่จัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ www.lv68th.com รายนายสันติธรฯ กับพวก กรณีนี้เคยมีการดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว 5 รายการ มูลค่าประมาณ 4 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 226/2567) และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบข้อมูลการโอนและรับโอนเงินผ่านบัญชีม้าบุคคลธรรมดา และบัญชีม้าที่เป็นนิติบุคคล มีการซื้อขาย เหรียญดิจิทัลบังหน้า มีบริษัทนอมินี ซึ่งเปิดมาเพื่อโอนเงินและแปรสภาพเป็นเงินสดและนำออกไปจากระบบ ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) จำนวน 2 รายการ (เงินสด) รวมมูลค่าประมาณ 32 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 63/2568)
– รายคดี นางสาวอริสาฯ กับพวก กรณีความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 30 รายการ (เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 13 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 65/2568)
– รายคดี นายธาดาฯ กับพวก กรณีเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการสืบสวนขยายผลจากข้อมูลการติดต่อทางโทรศัพท์มือถือของกลุ่มเครื่อข่ายการพนันออนไลน์และพบความเชื่อมโยงกับทรัพย์สินจำนวนมาก ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึด และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 87 รายการ (เช่น เงินสด ที่ดิน หน่วยลงทุน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าประมาณ 557 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 58/2568)
– รายคดี การพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไชต์ lengame888 รายนายบูรพาฯ กับพวก พบข้อมูลการถอนเงินสดที่ได้จากการกระทำความผิด อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (9) ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวนกว่า 16 รายการ (เช่น เงินสด ทองคำ) รวมมูลค่าประมาณ 26 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 98/2568)
– รายคดี นายสง่าฯ กับพวก (เครือข่ายโกฟุก) ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ความผิดฐานอั้งยี่ และความผิดฐานฟอกเงิน กรณีนี้คณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินไว้แล้วกล่าว 972 ล้านบาท และจากการสืบสวนสอบสวนพบข้อมูลการโอนผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารของกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิด และทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวจำนวน 372 รายการ (เช่น ที่ดิน และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่ากว่า 436 ล้านบาท (คำสั่ง ย.100/2568)
2. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 41 รายคดี ทรัพย์สิน 1,150 รายการ มูลค่าประมาณ 897 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้
– รายคดี การพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ www.sand168.com (ราย นายพิทยาฯ) กับพวก โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 696 รายการ (เช่น เงินสด ทองรูปพรรณ สินค้าแบรนด์เนม และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 244 ล้านบาท (คำสั่ง ย.7/2568)
– รายคดี บริษัทดิจิตอล คราวน์ โฮลดิ้ง จำกัดฯ กับพวก กรณีหลอกลวงให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนจำนวนมาก อันเป็นพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งกรณีนี้ มีส่วนที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายแล้วกว่า 2,300 ราย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา (ย.69/2556)โดยต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 3 รายการ (ที่ดิน) มูลค่าประมาณ 269 ล้านบาท (คำสั่ง ย.9/2568)
– รายคดี บริษัทสยาม แอฟโร จำกัด โดยนายกิตติคุณฯ กับพวก กรณีหลอกลวงให้ผู้เสียหายร่วมลงทุน ได้รับผลตอบแทนจากการการหาสามชิกมารวมลงทุนต่อๆ ไป อันเป็นพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่อง ให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 26 รายการ (ห้องชุด และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 32 ล้านบาท (ย.21/2568)
– รายคดี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีการดำเนินการกับทรัพย์สินไปแล้วกว่า 320 ล้านบาท โดยในการพิจารณาครั้งนี้ คณะกรรมการธุรกรรม ได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (เพิ่มเติม) จำนวน 23 รายการ (เช่น หน่วยลงทุน และสลากออมสิน) มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท (ย.27/2567)
– รายคดี บริษัท เคทูเอ็น โกลด์ กับพวก กรณีนางสาวกรกนกฯ หรือแม่ตั๊ก และนายกานต์พลฯ หรือป๋าเบียร์ อันเป็นพฤติการณ์ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนฯ และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 38 รายการ (เช่น เงินสด รถยนต์ ที่ดิน และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 171 ล้านบาท (ย.29/2568 และ ย.32/2568)
ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือความผิดที่มีผู้เสียหายในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้อง ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานปปง. ภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงานปปง. (www.amlo.go.th)
3. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สิน ไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 13 รายคดี ทรัพย์สิน 249 รายการมูลค่าประมาณ 288 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ คือ
– รายคดี นายกุลเกียรติฯ กรณีการทุจริตทรัพย์สินของสหกรณ์การเกษตรโกรกพระ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ และการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยมีทรัพย์สินส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (เพิ่มเติม) จำนวน 4 รายการ (ที่ดิน) มูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท (คำสั่ง ย. 10/2568)
– รายคดี นางสาวรัชญาฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งการดำเนินการกับทรัพย์สินในกรณีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (เพิ่มเติม) โดยคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย 7 ราย ทรัพย์สิน จำนวน 142 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 11 ล้านบาท (คำสั่ง ย.8/2568)
– รายคดี นางสาวจันจิราฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักทรัพย์ฯ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งการดำเนินการกับทรัพย์สิน ในกรณีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหายจำนวน 1 ราย ทรัพย์สิน จำนวน 164 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท (คำสั่ง ย.230/2567)
– รายคดี นางสาวเดือนนภาฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ความผิดเกี่ยวกับการนพนันฯ และความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งการดำเนินการกับทรัพย์สินในกรณีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ในการนี้ คณะกรรมการธุรกรรมมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหายจำนวน 294 ราย ทรัพย์สิน จำนวน 19 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 178 ล้านบาท (คำสั่ง ย.94/2567)