GISTDA จับมือ LATCONNECT60 พัฒนากล้องถ่ายภาพสำหรับดาวเทียม THEOS-3 ส่งเสริมเทคโนโลยีอวกาศไทยสู่เวทีโลก

17 เมษายน 2568 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท LATCONNECT60 Ltd. เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพสำหรับติดตั้งบนดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-3 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย การลงนามดังกล่าวจัด ณ ห้องประชุม Imagineering ชั้น 6 GISTDA ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และ Mr. Venkat Pillay ผู้บริหารของ LATCONNECT60 เป็นผู้ร่วมลงนาม พร้อมได้รับเกียรติจาก ดร.แองเจลา แมคโดนัลด์ (Dr. Angela Macdonald PSM) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงตอกย้ำบทบาทของ GISTDA ในฐานะองค์กรหลักด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงทิศทางใหม่ของประเทศไทยในการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูงกับนานาประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การบริหารจัดการทรัพยากร และการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต GISTDA และ LatConnect60 จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา Payload ที่มีเซนเซอร์สำหรับบันทึกข้อมูลในช่วงคลื่น (Short Wave Infrared Sensor Payload – SWIR) สำหรับดาวเทียม THEOS-3 รวมถึงการบูรณาการข้อมูลผ่านระบบประมวลผลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์บันทึกข้อมูล SWIR จะสามารถนำไปสนับสนุนด้านการเกษตร เช่น การวิเคราะห์ความชื้นของพืชและดิน, การตรวจสอบพืชผล, การวัดระดับความแห้งแล้ง และสนับสนุนการวางแผนการเพาะปลูกอย่างได้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการติดตามและประเมินคาร์บอนและก๊าซมีเทน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมาย Net Zero ทั้งในไทยและออสเตรเลีย

ด้าน Mr.Venkat Pillay ผู้บริหารของ LATCONNECT60 กล่าวว่า “LatConnect60 จะร่วมมือกับ GISTDA ในการศึกษาความเป็นไปได้ การบูรณาการ การเชื่อมต่อระบบ การทดสอบ และการตรวจสอบความถูกต้องของเพย์โหลดเซนเซอร์ SWIR เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานร่วมกับ THEOS-3 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขยายผลการประยุกต์ใช้ข้อมูลให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการข้อมูล SWIR ในปัจจุบัน” ซึ่งกล้องถ่ายภาพช่วงคลื่นอินฟราเรดย่านสั้น หรือ SWIR นั้น จะประกอบด้วยแถบสเปกตรัม 4 แถบต่อชุดเซนเซอร์ โดยครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่ 1,000 นาโนเมตร ถึง 17,000 นาโนเมตร ซึ่งเซนเซอร์นี้มีความละเอียดอยู่ที่ประมาณ 8.7 เมตร และความละเอียดหลังการประมวลผลอยู่ที่ 4 เมตร โดยมีความกว้างการสแกนภาพประมาณ 11 กิโลเมตรต่อหนึ่งชุดเซนเซอร์ จากระดับความสูงเฉลี่ยของวงโคจรที่ 500 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ความร่วมมือยังเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กำลังคน และการต่อยอดความร่วมมือในมิติอื่น ๆ ของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สะท้อนความมุ่งมั่นของ GISTDA ในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับภูมิภาคต่อไป