วันที่ 10 มีนาคม 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางเอทิริสิงเห อารัจจิลาเค ศรียานี วิชยันติ เอทิริสิงเห (H.E. Mrs. Edirisinghe Arachchilage Sriyani Wijayanthi Edirisinghe) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาประจำประเทศไทย ณ กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือแนวทางขยายความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศ พร้อมเน้นย้ำการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติในไทย และสร้างโอกาสการจ้างงานที่โปร่งใส โดยมี ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สำนักงานประกันสังคม รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับด้วย
นายพิพัฒน์รัฐมนตรีแรงงานไทย ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณแรงงานศรีลังกาที่เข้ามาทำงานในไทยกว่า 500 คน โดยยืนยันว่าแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม ทั้งในเรื่อง สิทธิแรงงานและประกันสังคม พร้อมกันนี้ ยังเปิดโอกาสให้ศรีลังกาส่ง ครูสอนภาษา เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยสามารถขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ได้ผ่านสองช่องทาง ได้แก่ 1. โรงเรียนรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการจะออกใบรับรอง 2. โรงเรียนเอกชน ซึ่งกระทรวงแรงงานสามารถออก Work Permit ได้ตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ พนักงานต้อนรับในโรงแรม จากศรีลังกาเข้ามาทำงานในไทยได้ เนื่องจากไม่ใช่อาชีพที่สงวนให้แรงงานไทย โดยจะอยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมแรงงานต่างชาติ
“หากศรีลังกาสนใจส่งแรงงานทักษะสูงเข้ามาทำงานด้าน ไอทีและเทคโนโลยี ไทยก็ยินดีพิจารณา ซึ่งเป็นสาขาที่กำลังต้องการบุคลากรอย่างมาก” นายพิพัฒน์กล่าว
นายพิพัฒน์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ศึกษา หลักสูตรการพัฒนาทักษะแรงงานร่วมกับศรีลังกา เพื่อให้แรงงานไทยและศรีลังกามีทักษะที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานยุคใหม่ พร้อมเปิดโอกาสให้นายจ้างจากศรีลังกาเข้ามาร่วมสอนและพัฒนาแรงงานไทย
ส่วนทางด้านนางเอทิริสิงเห อารัจจิลาเค ศรียานี วิชยันติ เอทิริสิงเห (H.E. Mrs. Edirisinghe Arachchilage Sriyani Wijayanthi Edirisinghe) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานศรีลังกาที่ทำงานในต่างประเทศมีมากกว่า 2 ล้านคน คิดเป็น 25% ของแรงงานทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในสาขา แม่บ้าน ช่างไฟฟ้า วิศวกร และพยาบาล ขณะเดียวกัน แรงงานศรีลังกาในไทยมีเพียง 300 คน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการศึกษาและงานสถาปัตยกรรม จึงขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาเปิดโอกาสให้แรงงานศรีลังกาเข้าสู่ตลาดแรงงานไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในด้าน เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุตสาหกรรมบริการ
นอกจากนี้ ศรีลังกายังเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงานด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้นักศึกษาศรีลังกาได้มาฝึกงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และขอให้ไทยพิจารณาส่งผู้ประกอบการไทยไปศึกษาตลาดแรงงานในศรีลังกา โดยการหารือครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยขยายโอกาสให้แรงงานไทยและศรีลังกา แต่ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างสองประเทศในระยะยาว
“ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมายาวนาน กว่า 70 ปี แรงงานเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ เราพร้อมร่วมมือกันเพื่อสร้างโอกาสให้แรงงานไทยและศรีลังกาเติบโตไปพร้อมกัน” นายพิพัฒน์กล่าวปิดท้าย