กรมการค้าต่างประเทศปรับแผนการเปิดให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ผ่านระบบ DFT SMART C/O ในระยะที่ 4 จากเดิมที่จะเปิดใช้งานในวันที่ 15 กันยายน 2567 เลื่อนเป็น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป สำหรับ Form 3 ประเภท คือ Form D, Form ASEAN – India (AI), Form Thai – Chile (TC) ส่วน Form Thai – India, Form C/O ส่งออกไปสหภาพยุโรป, Form A และ Form GSTP จะเปิดให้บริการผ่านระบบ EDI ตามเดิมต่อไป
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่กรมฯ ได้เปิดให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ผ่านระบบ DFT SMART C/O มาแล้ว 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ถึงปัจจุบัน โดยออกหนังสือรับรองฯ ผ่านระบบใหม่รวมแล้ว 10 ประเภท ได้แก่ Form RCEP, Form AHK (อาเซียน – ฮ่องกง), Form AJ (อาเซียน – ญี่ปุ่น) Form TP (ไทย – เปรู), Form AK (อาเซียน – เกาหลี), Form E (อาเซียน – จีน) Form C/O ทั่วไป, Form AANZ (อาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์), Form JTEPA (ไทย – ญี่ปุ่น) และ Form Thai – Australia (ไทย – ออสเตรเลีย) ซึ่งเดิมตามแผนในระยะที่ 4 กำหนดจะเปิดให้บริการอีก 7 ประเภท ได้แก่ Form D (อาเซียน), Form Thai – India (ไทย – อินเดีย), Form AI (อาเซียน – อินเดีย), Form TC (ไทย – ชิลี), Form A (GSP), Form GSTP และ Form C/O สินค้าที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป (ใบยาสูบ/ข้าว/มันสำปะหลัง/แป้งมันสำปะหลัง/ไก่/ปลา/หัตถกรรมทั่วไป/ผ้าไหมและผ้าฝ้ายทอด้วยมือ) ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2567 เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขว่า Form D จะต้องรอผลการทดสอบการใช้งานและความพร้อมของสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ส่วนฟอร์มอื่นๆ จะต้องให้ประเทศปลายทางยอมรับการใช้การลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) ก่อน จึงจะสามารถใช้งานผ่านระบบ DFT SMART C/O ได้
อย่างไรก็ดี จากการติดตามและหารือกับประเทศคู่ภาคี ได้แก่ อาเซียน อินเดีย รวมทั้งชิลี พบว่าขณะนี้อาเซียนยังอยู่ระหว่างการทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูล e – Form D ตามโครงสร้างใหม่ ซึ่งผลการทดสอบยังพบปัญหาการตอบรับไม่ครบถ้วนบ้างเล็กน้อยจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอาเซียนแจ้งว่าจะประกาศใช้งานระบบใหม่เมื่อการทดสอบประสบผลสำเร็จพร้อมกันทั้ง ๑๐ ประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังรอการยืนยันการยอมรับการใช้ ESS จากอินเดียและชิลีอย่างเป็นทางการด้วย ดังนั้น เพื่อให้การออกหนังสือรับรองฯ ผ่านระบบ DFT SMART C/O เป็นไปด้วยความเรียบร้อย กรมฯ จึงขอปรับแผนการเปิดให้บริการในระยะที่ 4 จากเดิมวันที่ 15 กันยายน 2567 โดยเลื่อนเป็นวันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป สำหรับหนังสือรับรองฯ 3 ประเภท ได้แก่ Form D (อาเซียน), Form ASEAN – India (AI), Form Thai – Chile (TC) ส่วน Form Thai – India, Form C/O ส่งออกไปสหภาพยุโรป, Form A และ Form GSTP จะให้บริการผ่านระบบ EDI เช่นเดิม
โดยกรมฯ จะติดตามความคืบหน้าจากอาเซียนและคู่ภาคีอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้กำหนดแผนการเปิดให้บริการผ่านระบบ DFT SMART C/O ให้เรียบร้อยโดยเร็วต่อไป
นายดวงอาทิตย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังเปิดให้บริการออกหนังสือรับรองฯ ผ่านระบบ DFT SMART C/O พบว่า ผู้ประกอบการมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบใหม่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอหนังสือรับรองฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ระบบใช้งานง่าย (user friendly) สะดวกรวดเร็วครบจบกระบวนการตั้งแต่ยื่นขอ ติดตามสถานะคำขอ ไปจนถึงการขอรับหนังสือรับรองฯ ที่เจ้าหน้าที่อนุมัติแล้วด้วย “บัตรประชาชน” ใบเดียว โดยการสมัครบัญชีผู้ใช้งานผ่านระบบ DFT SMART – I ของกรมฯ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถพิมพ์หนังสือรับรองฯ ที่เจ้าหน้าที่อนุมัติแล้วได้ด้วยตนเอง (Self – Printing) จากสำนักงานโดยไม่ต้องเดินทางมารับหนังสือรับรองฯ ที่หน่วยงานให้บริการ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อขอรับบริการได้เป็นอย่างมาก
จากสถิติการออกหนังสือรับรองฯ ผ่านระบบ DFT SMART C/O ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ถึงปัจจุบัน พบว่ากรมฯ ออกหนังสือรับรองฯ จำนวน 10 ประเภท รวมทั้งสิ้น 593,027 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 30,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหนังสือรับรองฯ ที่มีผู้ประกอบการขอมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Form อาเซียน – จีน จำนวน 269,988 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 15,133.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ Form C/O ทั่วไป จำนวน 131,766 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 7,680.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Form อาเซียน – เกาหลี จำนวน 81,060 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 2,068.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผ่านหน้าระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองฯ ทางอิเล็กทรอนิกส์ และที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385