1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (54 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.สกลนคร (57 มม.) ภาคกลาง : จ.กรุงเทพมหานคร (12 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (59 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (56 มม.) ภาคใต้ : จ.นราธิวาส (116 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งและมีลมแรง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 9 – 13 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนลดลง
พายุโซนร้อนกำลังแรง “ยางิ” (YAGI) บริเวณด้านตะวันตกของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศกำลังแรงตามลำดับ ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 64% ของความจุเก็บกัก (51,185 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 46% (27,005 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ :
ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 ก.ย.67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3 – 9 ก.ย. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
– พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
– เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
– เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (7 ก.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ครั้งที่ 9/2567 เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเกิดฝนตกหนักขึ้นในหลายพื้นที่ ประกอบกับอยู่ในช่วงเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่นยางิ รวมทั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรีและตราด จึงได้ร่วมกันวางแผนรองรับสถานการณ์ฝนที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด และร่วมลงพื้นที่จุดคันดินกั้นน้ำ (คลองเพชร) อ่างเก็บน้ำเขาระกำขยาย (สระสีเสียด) และจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟร์ ปากคลองส่งน้ำสายใหญ่
กรมชลประทานและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้วางแผนทยอยพร่องระบายน้ำในอ่างที่มีปริมาณน้ำมาก เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะตกมาเพิ่ม โดยจะแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า กรมประชาสัมพันธ์ได้นำเสนอแผนสร้างการรับรู้และการเตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ กรมทรัพยากรน้ำได้รายงานแผนการติดตั้งเครื่องมือแจ้งเตือนรวมถึงสร้างเครือข่ายการแจ้งเหตุเตือนภัยให้ครอบคลุมพื้นที่ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เตรียมแนวทางการแจ้งเตือนภัย การให้ความช่วยเหลือและจัดเตรียมสถานที่พักพิง รวมไปถึงการเยียวยาฟื้นฟูให้กับประชาชนที่รับผลกระทบ
5. สถานการณ์น้ำท่วม : วันที่ 7 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.ขุนตาล และพญาเม็งราย) จ.สุโขทัย (อ.สวรรคโลก ศรีสำโรง คีรีมาศ และกงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ) จ.นครสวรรค์ (อ.ชุมแสง) จ.อ่างทอง (อ.โพธิ์ทอง แสวงหา วิเศษชัยชาญ และป่าโมก) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา บางบาล บางปะหัน ผักไห่ บางไทร พระนครศรีอยุธยา และบางปะอิน)