วันที่ 19 สิงหาคม 2567 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) จัดงานครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 25 ปี สำนักงาน ปปง. โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน คณะผู้บริหารและข้าราชการสำนักงาน ปปง. เข้าร่วมงานฯ ณ แมนดาริน แกรนด์ บอลรูม โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร
นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ในปีที่ 25 นี้สำนักงาน ปปง. ได้ยกระดับการขับเคลื่อนภารกิจงานโดยใช้กระบวนการบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ที่เชื่อมโยงและส่งต่อกันอย่างเป็นระบบในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการฟอกเงินที่เปรียบเสมือนภัยร้าย กัดกร่อนทำลายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และปัญหาบัญชีม้าที่ปัจจุบันสร้างความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนในวงกว้าง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างความเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายแรง รวมทั้งยกระดับการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ด้วย โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญดังนี้
1. การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินมูลค่ากว่า 25,631 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ตุลาคม 2566 – กรกฎาคม 2567) สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มูลค่ากว่า 25,631 ล้านบาท จำแนกได้ ดังนี้
(1) ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดกว่า 7,878 ล้านบาท
(2) ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินกว่า 9,067 ล้านบาท
(3) ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานรวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 5,288 ล้านบาท
(4) ส่งทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินไปยังกระทรวงการคลัง รวมมูลค่ากว่า 3,398 ล้านบาท
ผลงานที่เป็นรายคดีสำคัญ เช่น รายคดีฉ้อโกงประชาชนหลอกลงทุนเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 597 ล้านบาท) รายคดีหุ้น STARK (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าทั้งสิ้น ประมาณ 3,245 ล้านบาท) รายคดี อั้ม PSV กับพวก (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 747 ล้านบาท) รายคดีกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ กับพวก (กรณีปฏิบัติการ SAHELL GAME) (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 10 ล้านบาท) รายคดีกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมไฮบริดสแกมข้ามชาติ (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 80 ล้านบาท) รายคดี ห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 136 ล้านบาท) รายคดี แก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ กับพวก (ยึดและอายัดทรัพย์สินประมาณ 1,017 ล้านบาท) เป็นต้น และในปีนี้สำนักงาน ปปง. สามารถติดตามเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดยาเสพติดกลับคืนมาจากสวิสเซอร์แลนด์เป็นเงินกว่า 76 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นคดีแรกของไทยที่ยึดและอายัดทรัพย์ในต่างประเทศโดยใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และได้เงินกลับคืนมาสู่ประเทศไทยได้สำเร็จตามกระบวนการ Asset Recovery
2. ดำเนินมาตรการตัดท่อน้ำเลี้ยงทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 6 (UN Sanction List) จำนวน 345 รายชื่อ รายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 7 (Thailand Sanction List) จำนวน 49 ราย อันเป็นการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 เพื่อตัดเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทั้งมาตรทางแพ่งและทางอาญาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศชาติและประชาชน
3. การประกาศรายชื่อบุคคลเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเพื่อจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาบัญชีม้าและอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศรายชื่อบุคคลเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังเพื่อจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 52,269 รายชื่อ ส่งผลให้สามารถจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีที่เกี่ยวข้อง 484,856 บัญชี สามารถป้องกันการนำบัญชีดังกล่าวไปใช้หลอกลวงหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนต่อไป ปัจจุบันมีเงินคงเหลือในบัญชีที่ถูกจำกัดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งสิ้น 1,307,977,981.22 บาท
4. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน และรองรับมาตรฐานสากล โดยดำเนินการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจนนำมาสู่การออกกฎกระทรวงการคืนหรือชดใช้คืนซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน พ.ศ. 2567 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การนำเงินหรือทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้แก่ผู้เสียหายให้มีความชัดเจน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน นอกจากนี้ เพื่อให้กระบวนการคืนเงินแก่ผู้เสียหายรวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันสำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อกำหนดกลไกให้ฝ่ายบริหารสามารถนำเงินไปคืนแก่ผู้เสียหายให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย ตลอดจนได้เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว รองรับการเข้ารับการประเมินมาตรฐานสากลในปี พ.ศ. 2570 ขณะนี้ร่างดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติต่างๆ ของผู้มีหน้าที่รายงานให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการการกำกับดูแลผู้มีหน้าที่รายงานธุรกรรมอันเป็นการยกระดับมาตรการป้องกันระบบการเงินของประเทศไทยไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือก่ออาชญากรรมด้านอื่นๆ ด้วย
5. ปรับปรุงการบริหารงานของสำนักงาน ปปง. และบูรณาการในการทำงานกับภาคีเครือข่ายเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ได้นำระบบเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน การจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานทั้งด้านกำกับตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน ด้านการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพยสินและการดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงิน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีทักษะที่เหมาะสมโดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การกำหนดช่องทางการยื่นคำร้องเพื่อขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการติดต่อกับสำนักงาน ปปง. เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมจัดทำ MOU กับสำนักงาน ป.ป.ท. และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เพื่อประสานการดำเนินคดี และช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้จะมีการลงนามเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ระหว่างสำนักงาน ปปง. ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ได้จัดทำ MOU กับต่างประเทศ เช่น กัวเตมาลา ติมอร์เลสเต และมัลดีฟ เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองทางการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการฟอกเงิน ตลอดจนประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่เป็นผู้มีหน้าที่รายงานธุรกรรมและภาคประชาชน เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การเผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและการฟอกเงิน
นายเทพสุฯ เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน ปปง. ในปี 2567 ที่ผ่านมา และยืนยันว่าทุกภารกิจสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม และในปีที่ 26 สำนักงาน ปปง. จะยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกด้านอย่างแข็งขันและทุ่มเท เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม สร้างความมั่นคงปลอดภัยแก่ระบบการเงิน เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติและประชาชนสืบไป