เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามการเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ช่วงชุมพร – นครปฐม และโครงการศูนย์กระจายตู้สินค้าทางรถไฟที่สถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ที่จะพัฒนาเป็นแหล่งขนส่งสินค้าผลิตผลทางการเกษตรเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากได้มีการเปิดใช้ทางคู่ตลอดเส้นทาง โดยมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟฯ และผู้บริหารการรถไฟฯ ให้การต้อนรับ
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการติดตามงานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงด้านคมนาคมในโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปิดใช้ทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร ได้ตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 420 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยไม่พบปัญหาและอุปสรรคในการเดินขบวนรถ แม้จะยังไม่ได้ใช้ระบบอาณัติสัญญาณอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งได้สั่งการให้การรถไฟฯ สามารถใช้ทางคู่ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าต่อประชาชนอย่างสูงสุด
ต่อมา นายสุรพงษ์ ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เดินทางติดตามความก้าวหน้า พร้อมรับฟังบรรยายภาพรวมโครงการแผนพัฒนาพื้นที่ย่านกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) สะพลี จังหวัดชุมพร เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางราง ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยมีเอกชนให้ความสนใจขนส่งสินค้าทางรถไฟหลากหลายชนิด อาทิ ยางพารา สินค้าอุปโภค และผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ที่ถูกขนส่งทางรถไฟผ่าน สปป.ลาว ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ ในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ได้มีการขนส่งทุเรียนใต้เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน วันละ 15 ตู้ต่อวัน วิ่งให้บริการวันเว้นวัน โดยในอนาคตได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ที่วันละ 25 ตู้ต่อวัน รวมทั้ง ได้ตั้งเป้าในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรเพิ่มเติม อาทิ มะพร้าวสด มะพร้าวแห้ง และมังคุด เพื่อขนส่งด้วยตู้ทำความเย็นผ่านระบบรางไปยังประเทศจีนเพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมรับฟังการบรรยายโครงการเกี่ยวกับแผนพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณสถานีทุ่งมะเม่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยการรถไฟฯ มีแนวคิดที่จะเพิ่มเส้นทางการเดินรถไฟใหม่ๆ ตลอดจนการจัดขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมของไทย หรือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ถือเป็นภารกิจสำคัญในการยกระดับการเดินทาง ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ลดระยะเวลาในการเดินทาง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงเครือข่ายการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน สินค้าและบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และประเทศเพื่อนบ้านเข้าด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งตนมีความมั่นใจว่าโครงการพัฒนารถไฟทางคู่สายใต้ มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคตอันใกล้