ภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตราด (158) กรุงเทพมหานคร (145) จ.มุกดาหาร (92) จ.กาญจนบุรี (92) จ.ระนอง (85) และ จ.อุตรดิตถ์ (82)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 51,681 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,307 ล้าน ลบ.ม. (65%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 21/2566 เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำชี – มูล
จากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี คาดว่าในวันที่ 2 ต.ค. 2566 ระดับน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว ได้แก่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และ ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงของ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการการเสริมสร้างขีดความสามารถองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำ ครั้งที่ 4 ณ ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ได้ร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขของพื้นที่ โดยสรุปจุดเด่นของพื้นที่คือติดป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งน้ำซับตลอดปี มีระบบประปาภูเขา และชุมชนมีกติการ่วมกันในการงดใช้ยาฆ่าแมลงในแปลงเกษตรที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ปัญหาสำคัญคือเป็นพื้นที่สูงชัน ในฤดูฝนจะมีน้ำหลากเร็วและแรง และไหลผ่านหมู่บ้านเซาะฝายและที่กั้นน้ำของชุมชนไปทุกปี ทำให้มีน้ำที่เก็บกักไว้ในหนองและอ่างขนาดเล็กที่กระจายทั่วไปไม่พอใช้ทั้งน้ำกินน้ำใช้และน้ำทำการเกษตรในฤดูแล้ง และน้ำทุกแหล่งจะมีตะกอนดินสูงต้องผ่านการกรองก่อนดื่ม โดยชุมชนมีแนวทางร่วมกันในการแก้ไข ได้แก่ (1) ร่วมกับหมู่บ้านโดยรอบรักษาและฟื้นฟูป่าและไม่ใช้สารเคมีในการเกษตร (2) สร้างฝายชะลอน้ำที่แข็งแรง 2 จุด พร้อมฝายดักตะกอน (3) สร้างบ่อกรองหยาบกรองน้ำก่อนให้ไหลเข้าในชุมชน (4) สร้างระบบส่งน้ำไปเก็บในทุกครัวเรือนในมากที่สุดในฤดูฝน (5) เพิ่มถังเก็บน้ำในทุกครัวเรือน (6) ฟื้นฟูหนองน้ำเดิมให้ช่วยเก็บและส่งต่อน้ำภายในหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น ชุมชนมีแนวคิดสร้างกลุ่มคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ (1) กลุ่มดูแลการเปิดระบบสูบน้ำให้พอเพียงกับทุกครัวเรือน (2) กลุ่มทบทวนปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางพัฒนา (3) กลุ่มจัดทำแผนและสมดุลน้ำ (4) กลุ่มพัฒนากติกาการใช้น้ำร่วมกัน พร้อมทั้งการดูแลรักษาฝายชะลอน้ำและฝายดักตะกอน และ (5) กลุ่มทำการเกษตรตัวอย่าง พร้อมกันนั้น ชุมชนต้องการให้มีการอบรมอาชีพให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เช่น จักสาน ทอผ้า และการค้าขายออนไลน์ โดย อบต.เชียงของจะร่วมขับเคลื่อนและขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป