วันที่ 20 กันยายน 2566 ที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานในการจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในโรงพยาบาลนำร่อง ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรปราการ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลบูรณาการ 3 ฐาน (กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ และบริษัท กลางผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560 – 2564) มีผู้เสียชีวิตจำนวน 96,230 คน เฉลี่ย 19,246 คนต่อปี ซึ่งในช่วง 5 ปี ดังกล่าว มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิต 4,244 คน โดย 269 คน เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ คิดเป็นร้อยละ 11.5 เฉลี่ย 54 คนต่อปี และในส่วนของการบาดเจ็บ 5 ปีที่ผ่านมา มีเด็กต่ำกว่า 15 ปี บาดเจ็บ 163,799 คน โดยเป็นเด็กที่เป็นผู้โดยสารบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์มีจำนวน 6,581 คน และประกาศพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ระบุว่า รถยนต์ส่วนบุคคลทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร กฎหมายกำหนดให้ต้องนั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไม่ว่าจะนั่งตอนใดของรถ เพื่อป้องกันอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุ ประกาศลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค เล็งเห็นความสำคัญและพิจารณาว่า ประชาชนยังขาดความพร้อมในการจัดหาที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก โดยมีปัญหาอุปสรรคทั้งการจัดหา จัดซื้อ รวมทั้งขาดความรู้ ความเข้าใจในอันตรายที่เกิดจากการโดยสารรถยนต์ โดยไม่ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในโรงพยาบาลนำร่อง (โรงพยาบาลสมุทรปราการ) เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ และส่งเสริมการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็กในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอดในโรงพยาบาลนำร่อง กรมควบคุมโรคได้มอบสื่อให้ความรู้เรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยเด็ก (ลูกรอดปลอดภัย ที่นั่งนิรภัยอย่ามองข้าม) ซึ่งได้ออกให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งประเทศ เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มารดาหลังคลอดและประชาชนทั่วไป