สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 ก.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.นราธิวาส (128) จ.นครพนม (102) จ.จันทบุรี (105) จ.เชียงราย (62) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (49) จ.สิงห์บุรี (27)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 46,633 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 41,745 ล้าน ลบ.ม. (58%)

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปางและตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย ยโสธร อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี และบึงกาฬ ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตรวจสอบและซ่อมบำรุงบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือสัตหีบ ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยทำการตรวจเช็คบ่อน้ำบาดาล และเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 3 บ่อ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง และติดตามตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ บ้านนาตะแบง หมู่ที่ 4 ตำบลคำป่าหลาย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร

กอนช. ติดตามหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ เร่งระบายน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พื้นที่หลายจังหวัดของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกสะสมต่อเนื่องหลายวัน โดยเฉพาะพื้นที่อีสานตอนกลาง มีปริมาณน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย กรมชลประทาน เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ดังนี้

• จังหวัดขอนแก่น ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่เศรษฐกิจ ได้แก่ บริเวณเทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลบ้านเป็ด ถนนหาชานนท์ และหน้าหมู่บ้านสินธารา บ้านโจด ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

• จังหวัดร้อยเอ็ด โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ บรรจุกระสอบทรายวางเสริมแนวตลิ่งบริเวณประตูระบายน้ำบ้านบาก ตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง พร้อมเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันเหตุการณ์ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและจัดเวรยามติดตามสถานการณ์น้ำตลอดแนวพนังกั้นน้ำยัง ตลอด 24 ชั่วโมง

• จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำประจำจุดเสี่ยงน้ำหลาก รถบรรทุก และสะพานเบลีย์หรือสะพานเหล็ก ไว้คอยช่วยเหลือหากเกิดอุทกภัย ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ สถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่หน่วยงานยังคงเฝ้าระวังระดับน้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะหมดช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่