สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 ก.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.ตราด (389) จ.พังงา (235) จ.แพร่ (140) จ.บุรีรัมย์ (62) จ.สุพรรณบุรี (60) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (56)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,100 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,657 ล้าน ลบ.ม. (55%)

กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 29 ส.ค.-3 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม หนองบัวลำภู และกาฬสินธุ์ ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ แม่น้ำยัง บริเวณอ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และ แม่น้ำสงคราม บริเวณอ.บ้านม่วง
จ.สกลนคร ถึง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

สทนช. จัดงาน “ความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ”

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการจัดกิจกรรม “ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” เนื่องในวันน้ำโลกประจำปี 2566 เพื่อสื่อสารกับทุกภาคส่วนให้ร่วมกันเร่งการเปลี่ยนแปลงผ่านสารของนายกรัฐมนตรี ในวันน้ำโลก 22 มีนาคม 2566 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างความตระหนักและความร่วมมือ เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และยกระดับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน รวมถึงเยาวชน โดยมุ่งพัฒนาน้ำดื่มน้ำใช้ที่ได้มาตรฐาน และขับเคลื่อนความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัด เป็นลำดับแรก

รัฐบาลยืนยันเจตนารมณ์และความพร้อมเดินหน้าไปกับประเทศสมาชิกในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ ร่วมเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วม ให้ประสบความสำเร็จภายในปี 2030 และพร้อมรับข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานและองค์กรด้านน้ำของประเทศสมาชิก เพื่อเพิ่มอัตราเร่งของพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นการแสดงผลการดำเนินงานของหน่วยงานและองค์กรภาคีเครือข่ายด้านน้ำ ที่สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การแลกเปลี่ยนแนวคิดและการขับเคลื่อนความร่วมมือการใช้น้ำอย่างประหยัดของภาครัฐ ภาคการศึกษาวิจัย ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม และการแสดงพลังเยาวชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาน้ำดื่มน้ำใช้ที่ได้มาตรฐาน และการใช้น้ำอย่างประหยัด ร่วมกับสถานศึกษาและชุมชน และด้วยความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรภาคี ผนวกกับการมีส่วนร่วมของเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะส่งผลให้เกิดการขยายแนวร่วมลงมือปฏิบัติที่มีความเข้มแข็ง เร่งการเปลี่ยนแปลงการจัดการน้ำและสุขาภิบาลของประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการของหน่วยงานและองค์กรด้านน้ำ การเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐและภาคประชาสังคม และการนำเสนอการร่วมบริหารจัดการน้ำของเยาวชน 4 ภูมิภาคของประเทศ เป็นต้น