สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 สค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.บึงกาฬ (82) จ.ตราด (75) จ.นราธิวาส (72) กรุงเทพมหานคร (54) จ.เชียงราย (37) จ.กาญจนบุรี (21)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,047 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,354 ล้าน ลบ.ม. (55%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 15/2566 ในช่วงวันที่ 20-25 ส.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และสุราษฎร์ธานี

สทนช. ลงพื้นที่ชี้เป้าเสี่ยงแล้ง อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย เร่งสูบน้ำเติมนาข้าวก่อนยืนต้นตาย

ตามที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ กอนช. ห่วงใยต่อสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ และสั่งการให้ สทนช. ติดตามสถานการณ์เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเชิงป้องกันนั้น ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ สทนช. ภาค 1 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่ กอนช. ได้ประเมินไว้ เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงและวางแผนป้องกันปัญหาเร่งด่วนหากมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ สทนช. ภาค 1 ได้ลงพื้นที่ ต.นครเดิฐ อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย พบว่าเป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน อยู่ในช่วงการเพาะปลูกพืชหลายชนิด ได้แก่ นาข้าว พืชไร่ และพืชสวน ซึ่งพืชอยู่ในช่วงระยะที่มีความต้องการน้ำมาก ในขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหลัก ได้แก่ บึงสวย หนองยาง หนองกระเบื้อง หนองปลิง และหนองนาค มีปริมาณน้ำน้อย อาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้น้ำภาคการเกษตรได้ถึงเดือน พ.ย. 66 และคาดว่าอีกประมาณ 2 เดือนต่อจากนี้หากไม่มีปริมาณฝนตกเพียงพอในพื้นที่ จะเกิดความเสียหายต่อพืชได้

สำหรับแผนการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ได้มีการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตามโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล งบกลางปีงบประมาณ 2565 ณ บริเวณหนองปลิง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแผนงานโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อป้องกันผลกระทบการขาดแคลนน้ำ อาทิ การขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรพร้อมติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ ซึ่งจากผลการประเมินเบื้องต้นในขณะนี้ น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ แต่ยังต้องเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งนี้จะมีการบูณาการหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสี่ยง การขาดแคลนน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญในระยะยาวต่อไป