กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 14/2566 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 12 – 18 สิงหาคม 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่จัน แม่สาย และแม่ฟ้าหลวง) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่สอด แม่ระมาด และอุ้มผาง) จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน บ่อเกลือ ปัว เชียงกลาง ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) โดยเฉพาะจังหวัดน่านซึ่งปัจจุบันมีน้ำท่วมขังอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงสา อำเภอท่าวังผา และอำเภอแม่จริม ระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ ปากคาด บุ่งคล้า เซกา ศรีวิไล พรเจริญ โซ่พิสัย และบึงโขงหลง) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม ท่าอุเทน ศรีสงคราม บ้านแพง นาทม และโพนสวรรค์) จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง และอากาศอำนวย) ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ และท่าใหม่) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด คลองใหญ่ บ่อไร่ แหลมงอบเขาสมิง เกาะกูด และเกาะช้าง) ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี) จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดสตูล (อำเภอละงู) จังหวัดตรัง (อำเภอกันตัง สิเกา และปะเหลียน)
2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขอบประเทศ ที่หลายฝ่ายห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้และจะเด่นชัดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 ส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติทั่วประเทศ ซึ่ง กอนช. ได้บูรณาการวางแผนรับมือเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปี 2566/67 และช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 รวมถึงสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ดังกล่าวอย่างยั่งยืน กอนช.จะติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที พร้อมทั้งได้ทำหนังสือแจ้งส่วนราชการและภาคเอกชน ให้รับรู้และปฏิบัติตามมาตรการแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบไว้อย่างเคร่งครัด