กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณ หมู่ที่ 6 ตำบลร่องฟองอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรในการเพาะปลูกพืช และ ดำเนินการกำจัดวัชพืช บริเวณ คลองลากฆ้อน ตำบลคลองพระยาบันลืออำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลป่างิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมถึงรักษาความสะอาดและลดปัญหาน้ำเน่าเสีย
2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วันที่ 6 ส.ค. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จ.นครราชสีมา ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ให้ความช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา อย่างเร่งด่วน รวมถึงระดมเครื่องจักรเครื่องมือวางแผนสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ อาทิ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ่างเก็บน้ำหนองกก รวมถึงแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังสระประปาหมู่บ้านและคลองสาธารณะเพื่อส่งน้ำต่อไปยังพื้นที่การเกษตรต่างๆ ส่วนแผนระยะยาวได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานให้พิจารณาความพร้อมและจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของโครงการ
4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม ดังนี้ จังหวัดเชียงใหม่ อมก๋อย (อำเภออมก๋อย) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง และแม่สอด) จังหวัดน่าน (อำเภอปัว เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง และเชียงกลาง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง และเมืองจันทบุรี) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่)