สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 สค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.น่าน (95) จ.กาญจนบุรี (89) จ.ปัตตานี (46) จ.สุรินทร์ (44) จ.ปราจีนบุรี (36) จ.ปทุมธานี (16)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 42,309 ล้าน ลบ.ม. (51%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 37,603 ล้าน ลบ.ม. (52%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองผดุงกรุงเกษม คลองมหานาค คลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในคลองผดุงกรุงเกษมนั้น จะทำการเปิดประตูน้ำที่สถานีสูบน้ำเทเวศร์ เพื่อรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีการไหลเวียนถ่ายเท (flushing) โดยไประบายออกบริเวณสถานีสูบน้ำกรุงเกษม ซึ่งอยู่ปลายอีกด้านหนึ่งของคลองผดุงกรุงเกษม รวมถึงยังสามารถบริหารน้ำให้ไหลเวียนผ่านคลองมหานาคเข้าสู่คลองแสนแสบ โดยใช้อาคารรับน้ำแสนเลิศของอุโมงค์ระบายน้ำใต้บึงมักกะสันเพื่อช่วยในการบังคับทิศทางน้ำ ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอีกด้วย โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1 – 3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน และตาก ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด

กอนช. ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ย้ำข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีห่วงใยพื้นที่แล้งในช่วงฤดูฝน
วันที่ 6 ส.ค. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จ.นครราชสีมา โดยประชุมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย และติดตามความก้าวหน้าการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อให้การช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ อ.โนนไทย ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการ สทนช.เร่งดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูฝน เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำอย่างจำกัด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างต่อเนื่องซึ่งรวมถึงติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ฝนตกน้อยที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจส่งผลให้ประสบปัญหาภัยแล้งได้เช่นกัน

ทั้งนี้ได้พิจารณาแนวทางการเชื่อมโยงแหล่งน้ำใกล้เคียงมาสนับสนุนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เช่น การสูบทอยน้ำไปเก็บกักในแหล่งน้ำต่างๆ การสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำที่มีน้อย โดยมีการปรับตัวและจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือถึงจะจัดสรรเพื่อการเกษตรได้ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ขณะเดียวกัน ได้มีการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากการใช้โดรนบินสำรวจในพื้นที่จริงเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปวางแผนในการให้ความช่วยเหลือประชาชน รวมถึงพิจารณาแผนงาน การปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำเดิม และระบบกระจายน้ำในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพรวมไปถึงการเก็บกักน้ำก็จะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำให้ประชาชนที่ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำยาวไปถึงปี 2568 ที่อาจได้รับผลกระทบจากเอลนีโญได้เช่นกัน