สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566

1.1 กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามการกำจัดวัชพืชผักตบชวาด้วยเรือขุดแบ๊คโฮ บริเวณสะพานบางขนาก ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตร อุปโภค-บริโภค รวมทั้งการดำเนินการกำจัดวัชพืชด้วยเรือนวัตกรรมเก็บวัชพืชขนาดเล็ก บริเวณคลองซอยที่ 14 สายล่าง ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และ บริเวณคลองลากฆ้อนเก่า ตำบลละหารอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เพื่อกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

1.2 กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการ ตรวจสอบและบำรุงรักษาสถานีเตือนภัยในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมติดต่อประสานงานผู้รู้ ในการช่วยเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อให้การรายงานผลเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อไป

2. สภาพอากาศและการคาดการณ์
ในช่วงวันที่ 4 – 7 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 9 ส.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้จัดโครงการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ณ โรงแรม โอทู ลพบุรี ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตามมาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) ใน 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ โดยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องข้อมูลสถานการณ์น้ำ ช่องทางและการเชื่อมโยงการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ และการแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชันติดตามและแจ้งข้อมูลสถานการณ์ National ThaiWater (NTW) ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการแล้ว 4 ครั้งในพื้นที่ภาคเหนือที่ จ.เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ภาคตะวันตก จ.เพชรบุรี และภาคใต้ จ.ยะลา และจะดำเนินการต่อเนื่องอีก 1 ครั้ง ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ต่อไป

4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม จำนวน 6 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดเชียงราย (อมก๋อย) จังหวัดตาก (ท่าสองยาง แม่ระมาด และอุ้มผาง) จังหวัดน่าน (เชียงกลาง ทุ่งช้าง และปัว) จังหวัดนครพนม (นาทม และเมืองนครพนม) จังหวัดจันทบุรี (เมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ และมะขาม) จังหวัดตราด (บ่อไร่ และเกาะช้าง)