– ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตาก (118) จ.ตราด (105) จ.กาญจนบุรี (87) จ.สกลนคร (77) กรุงเทพมหานคร (57) และ จ.พังงา (51)
– ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,629 ล้าน ลบ.ม. (51%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,943 ล้าน ลบ.ม. (52%)
– คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
– หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ร่วมกับจังหวัดนครพนม ดำเนินการสำรวจพื้นที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก แร้อมสนับสนุนรถสะพานเครื่องหนุนมั่น (Modular Fast Bridge) ติดตั้งชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเส้นทางสัญจรถูกน้ำกัดเซาะจนถนนขาดใช้การไม่ได้ ในพื้นที่ ต.พุ่มแก อ.นาแก จ.นครพนม
– กอนช. เน้นย้ำหน่วยงานเตรียมพร้อมบริหารความเสี่ยงน้ำท่วม-น้ำแล้ง วานนี้ (3 ส.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ โดย กอนช. เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง เตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ และเร่งสูบน้ำจากลำน้ำเข้าสู่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด และบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ได้คาดว่าในระยะนี้จะยังมีฝนกระจายตัวแต่ปริมาณจะลดลงจากช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. นี้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินสถานการณ์ว่ามีโอกาสที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนผ่านเข้ามาประมาณ 1-2 ลูก
ในขณะที่ สทนช. ได้มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและการซักซ้อมการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า เพื่อเตรียมรับมือกรณีมีฝนตกมากจากพายุดังกล่าว รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อน 12 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด และเตรียมบริหารความเสี่ยงในกรณีที่ไม่มีพายุจรเข้ามา ภายใต้การวางแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปี เพื่อให้มีน้ำเพียงพอถึงช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 พร้อมรณรงค์ในเรื่องการประหยัดน้ำและงดทำนาปีต่อเนื่อง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานท้องถิ่นและประชาชน ร่วมช่วยขุดลอก ขุดสระเก็บน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในช่วง 2 เดือนนี้ที่มีโอกาสที่อาจจะมีฝนตกไว้ให้ได้มากที่สุด