รธบ.ลงพื้นที่ตรวจประเมิน การคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน กลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำคลองหยา

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 09.00 น. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจประเมินระดับพื้นที่ การคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ดีเด่นระดับกรม ประจำปี พ.ศ.2567 พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดกระบี ตรวจประเมินฯ กลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำคลองหยา โครงการชลประทานกระบี่ สำนักงานชลประทานที่ 15

กลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำคลองหยา มีการเพาะปลูกพืชเกษตรหลากหลายชนิด เช่น ข้าว ทุเรียน ไม้ผล พืชผัก พืชไร่ ปาล์มน้ำมัน ยังมีการทำประมงน้ำจืด เลี้ยงปลาดุ ปลานิล ปลาหมอ กบ ตะพาบน้ำ การทำเกษตรที่มีความแตกต่างในการใช้น้ำ ทางกลุ่มต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อลดผลกระทบในการขาดแคลนน้ำ ที่จะส่งผลกับผลผลิตและรายได้

โดยมี นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายสุวรรณ กอเจริญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน และ นายวีระ เพ็งทอง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกระบี่ พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องและสมาชิกกลุ่มฯ บรรยายสรุปการดำเนินการบริหารจัดการ ณ โรงสีข้าวพระราชทาน อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ของกลุ่มมีหลายรูปแบบ ต้นน้ำพื้นที่สูง ใช้การส่งน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำ เกษตรกรจะพักน้ำในบ่อจิว แล้วใช้ระบบสปริงเกอร์ในสวน พื้นที่ราบใช้การส่งน้ำด้วยระบบคลองดาดคอนกรีด ส่งน้ำเข้าคูส่งน้ำ(คลองไส้ไก่)ในการกระจายน้ำเข้าพื้นที่เกษตร

กรมชลประทานได้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ทุกปีเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของของเกษตรกร กับกรมชลประทาน ในรูปแบบองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน ร่วมกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำชลประทาน รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำในการนำความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการนี้ รธบ.เน้นย้ำกลุ่มบริหารการใช้น้ำ ต้องช่วยกันดูแลอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำของชุมชนไว้ให้ดี เพราะเป็นแหล่งน้ำของทุกท่าน กลุ่มผู้ใช้น้ำทราบปัญหาและวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม กลุ่มต้องเข้มแข็งและมีส่วนร่วม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิการสูงสุด